ฮอนด้า เปิดสนามทดสอบ ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค ปราจีนบุรี

Wet Course_03

บริษัท ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด (หรือ HRAP) เปิดสนามทดสอบ ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค ปราจีนบุรี อย่างเป็นทางการ ณ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดปราจีนบุรี

สนามทดสอบ ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค ปราจีนบุรี เป็นสนามทดสอบแบบครบวงจรที่มีเอกลักษณ์ และได้รับการออกแบบมาสำหรับภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียโดยเฉพาะ ด้วยเงินลงทุน 1,700 ล้านบาท สำหรับการก่อสร้างสนามทดสอบ ที่ประกอบด้วย 8 สนาม บนพื้นที่กว่า 500 ไร่ (หรือประมาณ 800,000 ตร.ม.) โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ 3 ที่มีสนามทดสอบของฮอนด้า ต่อจากประเทศญี่ปุ่น และประเทศสหรัฐอเมริกา

สนามทดสอบแห่งใหม่นี้ ใช้สำหรับการทดสอบรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ โดยจะมีการทดสอบในหลายรูปแบบ เช่น การควบคุมรถ การทรงตัว และสมรรถนะโดยรวม เพื่อนำผลทดสอบไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะจำหน่ายในภูมิภาคนี้ สนามทดสอบแห่งใหม่นี้ จึงมีส่วนสำคัญในการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ฮอนด้าในประเทศไทย และในตลาดเอเชียและโอเชียเนีย ในอนาคต ทางฮอนด้ายังมีแผนที่จะนำยานยนต์จากภูมิภาคอื่นมาทดสอบที่นี่ด้วยเช่นกัน

สนามทดสอบ ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค ปราจีนบุรี แห่งนี้ ประกอบด้วยสนามทดสอบที่จำลองสภาพถนนและลักษณะภูมิประเทศในรูปแบบต่างๆ 8 สนาม โดยความยาวรวมประมาณ 8 กิโลเมตร ซึ่งแบ่งเป็นสนามทดสอบรูปแบบต่างๆ ดังนี้

1) สนามทดสอบรูปวงรี (Oval Course):
สนามทดสอบรูปวงรีความยาว 2.18 กิโลเมตร ใช้ทดสอบสมรรถนะของรถยนต์ในขณะขับด้วยความเร็วสูง รวมถึงการทดสอบอื่นๆ เช่น ระดับเสียงของลมที่เข้ามาในห้องผู้โดยสาร และการควบคุมพวงมาลัย

2) สนามทดสอบทางโค้ง (Winding Course):
สนามทดสอบทางโค้งความยาว 1.38 กิโลเมตร ใช้ทดสอบสมรรถนะโดยทั่วไป รวมถึง การทดสอบประสิทธิภาพของระบบเบรก และการควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง สนามทดสอบทางโค้งนี้มีการจำลองถนนที่มีการขึ้น-ลง และถนนที่มีมุมอับสายตา รวมมีทางโค้งทั้งหมด 17 โค้ง

3) สนามทดสอบไดนามิกส์ (Vehicle Dynamics Area):
สนามทดสอบที่เชื่อมต่อกับสนามทดสอบรูปวงรี ใช้ทดสอบการควบคุมการทรงตัวของรถ ขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูง และทดสอบประสิทธิภาพของการเบรก ขณะเข้าทางโค้งแบบหักศอก

4) สนามทดสอบที่มีน้ำท่วมขัง (Wet Course):
สนามทดสอบที่จำลองสภาพถนนที่เปียกและลื่น ใช้ทดสอบผลกระทบของน้ำท่วมขังที่มีต่อสมรรถนะของรถยนต์ ประกอบด้วย Pool Road, Splash Road, Wet Brake Road โดยสนามนี้สามารถปรับระดับความลึกของน้ำได้ตั้งแต่ 0-1,000 มิลลิเมตร เพื่อจำลองสถานการณ์น้ำท่วม ที่อาจเกิดขึ้นได้บ่อยในทวีปเอเชีย โดยเป็นการทดสอบการกันน้ำและผลกระทบต่อห้องเครื่องยนต์

5) สนามทดสอบสภาพพื้นผิวถนนในรูปแบบต่างๆ (Ride Road Course):
สนามทดสอบนี้จำลองสภาพพื้นผิวถนนของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย ใช้ทดสอบสมรรถนะทั่วไปบนพื้นผิวถนนที่แตกต่างกัน โดยมีถนนลักษณะต่างๆ ถึง 8 รูปแบบด้วยกัน อาทิ ถนนคอนกรีต (Concrete Highway) ถนนยางมะตอยที่มีพื้นผิวชำรุด (Noise Road) และถนนลาดเอียง (Camber Road)

6) สนามทดสอบที่มีพื้นผิวพิเศษ (Special Surface Courses):
สนามทดสอบนี้ได้รับการออกแบบและสร้างด้วยเทคโนโลยี 3 มิติ เพื่อจำลองพื้นผิวถนนที่ขรุขระ ใช้ทดสอบความทนทานของช่วงล่างรถยนต์ โดยมีพื้นผิวถนนลักษณะต่างๆ ถึง 8 รูปแบบด้วยกัน อาทิ ถนนที่จำลองลูกระนาด (Speed Breaker) และถนนคอนกรีตที่มีพื้นผิวขรุขระ (Concrete Rough Road)

7) สนามทดสอบทางลาดชัน (Slope Course):
สนามทดสอบทางลาดชัน ใช้ทดสอบความแข็งแกร่งของเครื่องยนต์ และประสิทธิภาพของระบบเบรก

8) สนามทดสอบทางตรง (Straight Course):
สนามทดสอบทางตรงความยาว 1.2 กิโลเมตร ใช้ทดสอบอัตราการประหยัดน้ำมัน และอัตราการเร่งความเร็วหลังจากออกตัว

สนามทดสอบแห่งนี้ยังมีพื้นที่สนามหญ้า ซึ่งในอนาคตมีแผนที่จะใช้ทดสอบผลิตภัณฑ์ดูแลสนามหญ้าของฮอนด้าอีกด้วยสนามทดสอบปราจีนบุรีแห่งนี้ จะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ฮอนด้า เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในอนาคต