ฟอร์ด เอเวอเรสต์ 2018 พิสูจน์สมรรถนะเครื่องยนต์และเกียร์ บล็อคใหม่
ฟอร์ด ประเทศไทย เชิญ Carinner ร่วมทริปทดสอบเปิดประสบการณ์การขับขี่ ฟอร์ด เอเวอเรสต์ 2018 (Ford Everest) บนเส้นทางกรุงเทพฯ – เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์
ก่อนออกเดินทางผู้บริหารฟอร์ด ให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีของ “ฟอร์ด เอเวอเรสต์ 2018” จากนั้นต่างแยกย้ายกันขนสัมภาระขึ้นรถ ฟอร์ด เอเวอเรสต์ ใหม่ ด้วยการลองใช้ฟีเจอร์ใหม่แบบแฮนด์ฟรี ที่ประตูท้าย เพียงใช้เท้ายื่นไปใต้กันชนท้าย ยื่นเท้าเข้าไปพร้อมกับชักเท้ากลับออกมาให้รวดเร็ว ประตูท้ายก็จะเปิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ (แต่กุญแจจะต้องอยู่ที่ตัวคนเปิด)
วันแรก carinner ขับรถ ฟอร์ด เอเวอร์เรสต์ รุ่นท็อป ไททาเนี่ยมพลัส ไบเทอร์โบ 213 แรงม้า ขับเคลื่อน 4 ล้อ ออกเดินทางมุ่งหน้าไปจังหวัดเพชรบูรณ์ บนเส้นทางไฮเวย์ เพื่อลองขุมพลังบล็อคใหม่ ของ “ฟอร์ด เอเวอเรสต์ 2018”
ภายนอกตกแต่งให้ดูพรีเมี่ยมขึ้น โดยกระจังหน้าปรับเปลี่ยนครีบดักลมใหม่ พร้อมกันชนหน้าดีไซน์ใหม่ ติดตั้งไฟส่องสว่างกลางวันแบบ LED และไฟหน้า HID Projector ที่ปรับระดับสูง/ต่ำ อัตโนมัติ มีระบบเปิด/ปิดไฟสูงอัจฉริยะ Auto High Beam Control และมีกล้องคอยตรวจจับแสงไฟด้านหน้ารถ
ในช่วงขับทดสอบหากทางข้างหน้ามืดสนิท ระบบจะเปิดไฟสูงให้อัตโนมัติและเมื่อตรวจจับเจอแสงไฟของรถคันข้างหน้าส่องมา ระบบจะลดไฟสูงทันที หมดกังวลเรื่องไฟสูงที่จะส่องรถที่สวนมา ไฟท้ายแบบ LED ติดตั้งหลังคามูนรูฟขนาดใหญ่ (Panoramic Moonroof) และล้อแม็กซ์ ขนาด 20 นิ้ว ยางกู๊ดเยียร์ 265/50 R20
ห้องโดยสารมีระบบตัดเสียงรบกวนจากภายนอก ช่วยลดเสียงรบกวนในห้องโดยสาร และให้ความสำคัญกับการลดเสียงรบกวนจากเครื่องยนต์และระบบเกียร์ เสริมด้วยวัสดุซับเสียงภายในห้องโดยสารให้มีประสิทธิภาพขึ้น
ในส่วนของระบบปรับอากาศเป็นแบบควบคุมแยกส่วนหน้า/หลัง โดบชุดปรับอากาศด้านหลัง สำหรับเบาะนั่งแถวที่ 2/3 สามารถควบคุมทั้งแรงลมและระดับความเย็นได้เอง พร้อมช่องแอร์บนเพดาน มีช่องเสียบไฟ 4 จุด แบบ (DC 12V) และปลั๊กไฟบ้าน (AC 230V)
ด้านความบันเทิง ติดตั้งจอทัชสกรีน ฟูลคัลเลอร์ ขนาด 8.0 นิ้ว และ กล้องมองหลัง รวมทั้งระบบแผนที่นำทางโดยใช้สัญญาณจากดาวเทียม ที่เพิ่มความมั่นใจในการเดินทางในพื้นที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์
พัฒนาระบบเชื่อมต่อและสั่งงานด้วยเสียง ระบบซิงค์ 3 (SYNC 3) ซึ่งสามารถจดจำเสียงและสั่งงานเสียงด้วยภาษาไทยได้ ช่วยโทรออก ฟังเพลง หรือเรียกใช้เมนูอื่นๆ ได้ โดยไม่ต้องละสายตาจากถนน รวมทั้งยังรองรับ Apple Carplay และ Android Auto พร้อมบลูทูธ
จอทัชสกรีน ฟูลคัลเลอร์ ขนาด 8.0 นิ้ว และ กล้องมองหลัง รวมทั้งระบบแผนที่นำทางโดยใช้สัญญาณจากดาวเทียม ที่เพิ่มความมั่นใจในการเดินทางในพื้นที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ มีระบบช่วยโทรฉุกเฉิน (Emergency Assistance)
ระบบ SYNC ที่ได้รับการพัฒนาอีกขั้น เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือผ่านบลูทูธด้วยระบบ SYNC® และต่อสายไปที่เบอร์ 1669 เมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือต้องการความช่วยเหลือ
ระบบปรับอากาศแบบแยกส่วน ด้านหน้าแยกอิสระซ้าย/ขวา และระบบปรับอากาศด้านหลัง สำหรับเบาะนั่งแถวที่ 2 และแถวที่ 3 พร้อมช่องแอร์เหนือศีรษะ และช่องต่ออุปกรณ์ไฟฟ้า 4 จุด (DC 12V) พร้อมปลั๊กไฟบ้าน (AC 230V) เบาะนั่งแถวที่ 2 ปรับพับแยก 60:40 และแถว 3 พับแยก 50:50 และปรับพับให้แบนราบได้
เครื่องยนต์บล็อกใหม่
ในรุ่นไททาเนี่ยม พลัส 4×4 ใช้เครื่องยนต์ เทอร์โบคู่ หรือไบ-เทอร์โบ ให้กำลังสูงถึง 213 แรงม้า ที่ 3,750 รตน. แรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตร (51.0 กก.-ม.) ที่ 1,750-2,000 รตน.
ชุดส่งกำลังเป็นเกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะชุดใหม่ มีโหมดเปลี่ยนเกียร์ บวก/ลบ ซึ่งบล็อคนี้น่าจะแทนเครื่องยนต์ดีเซล 5 สูบ 20 วาล์ว ขนาด 3.2 ลิตร 200 แรงม้า ที่ 3,000 รตน. แรงบิดสูงสุด 47.9 กก.-ม. ที่ 1,750-2,500 รตน.และระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ชุดเดิม
ช่วงการทดสอบอัตราเร่งพบว่า เอเวอเรสต์ ใหม่ มีอัตราเร่งที่โดดเด่น มากกว่าเดิมชัดเจน แม้จะใช้เครื่องยนต์ที่มีขนาดเล็กและความจุน้อยกว่า แต่เทอร์โบคู่ ก็ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้กำลังแรงม้าและแรงบิดที่มาก กว่ารุ่นเดิม รู้สึกได้ตั้งแต่จังหวะเร่งออกตัวหรือช่วงเร่งแซง เซ็ทจังหวะออกตัวให้นุ่มนวลในสไตล์รถครอบครัว ให้กำลังมากพอที่จะทำให้รู้สึกได้ว่า เครื่องบล็อคนี้มีการตอบสนองที่ดีกว่า เอเวอเรสต์ รุ่นเดิม และรุ่นเครื่องยนต์ 180 แรงม้าค่อนข้างชัดเจน จังหวะเร่งแซงทำได้ดี ทางตรงยาวแรงไหลลื่นทันใจ ทำความเร็วไปแตะ 180 กม./ชม. อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย จากมาตรวัดเรือนไมล์ อยู่ที่ประมาณ 8.5 กิโลเมตร/ลิตร
หลังอาหารกลางวันที่ อำเภอวิเชียรบุรี เราออกเดินทางไปยัง วัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว อำเภอเขาค้อ ข่วงนี้จะมีสภาพเส้นทางขึ้นเขา และคดเคี้ยว สามารถพิสูจน์แรงบิดที่สูงถึง 500 นิวตันเมตร และประสิทธิภาพเครื่องยนต์ รวมถึงการบังคับควบคุมและช่วงล่างได้อย่างชัดเจน
เอเวอเรสต์ รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อจะใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา (Terrain Management System i4WD) ปรับรูปแบบการขับขี่ได้ 4 โหมด คือ Normal สำหรับพื้นถนนทั่วไป Sand สำหรับพื้นทราย Snow Or Mud สำหรับพื้นหิมะ หรือโคลน หรือทุ่งหญ้า และ Rock Crawl สำหรับพื้นหินขรุขระ พร้อมโหมด 4l และระบบล็อคเฟืองท้ายแบบไฟฟ้า (Electronic Locking Rear Differential) นอกจากนี้ ยังติดตั้งระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางชัน (Hill Descent Control)
ติดตั้งระบบกันสะเทือนหน้าแบบ อิสระปีกนก 2 ชั้นพร้อมคอยล์สปริงและเหล็กกันโคลง ระบบกันสะเทือนหลัง คอยล์สปริงพร้อมวัตต์ลิงค์และเหล็กกันโคลง ใช้ระบบพวงมาลัยพาวเวอร์แบบผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า
ช่วงล่างเซ็ทมานุ่มนวลกว่าเดิม แต่ได้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ตลอดเวลาที่แปรผันการทำงานไปยังล้อทั้ง 4 ได้ดี ทำให้ช่วงล่างที่นุ่ม เน้นขับและนั่งได้สบาย มีจังหวะโคลงบ้าง แต่อัลลอย ขนาด 20″ พร้อมยาง Goodyear ขนาด 265/50 R20 ก็ยังยึดเกาะถนนไปกับโค้งซ้ายและขวาได้อย่างดี รู้สึกถึงความนุ่มสบายกว่ารุ่นเดิม
เอเวอเรสต์ จัดเต็มเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย และช่วยขับขี่เหนือคู่แข่ง ได้แก่ ระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ (Adaptive Cruise Control) ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทาง (Lane Keeping System) ระบบเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Warning System) ระบบแจ้งเตือนการขับขี่ (Driver Alert System) ระบบเปิด-ปิดไฟสูงอัจฉริยะ (Auto High Beam Control) ระบบช่วยจอดอัจฉริยะ (Active Park Assist) ระบบตรวจจับรถในจุดบอด (BLIS – Blind Spot Information System) ที่มาพร้อมระบบตรวจจับรถขณะออกจากซองจอด (Cross Traffic Alert)กล้องมองหลังขณะถอยจอดและสัญญาณเตือนระยะจอดด้านหน้า (Rear View Camera and Sensors)
ภาพรวมจากการทดสอบรุ่นขับเคลื่อน 4 ไททาเนี่ยม พลัส ทำได้ค่อนข้างประทับใจ ทั้งอัตราเร่งและระบบความปลอดภัยที่จัดเต็มเหนือคู่แข่งในตลาด มีเพียงช่วงล่างที่รู้สึกถึงความนุ่มนวลไปบ้าง
วันที่ 2 พิสูจน์สมรรถนะ ในเส้นทางธรรมชาติ สู่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
เราเดินทางเข้าไปอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จุดหมายที่ทุ่งนางพญา โดยวันที่ 2 เราต้องเปลี่ยนมาขับ รุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ (หลัง) ไททาเนี่ยม พลัส ซึ่งเป็นรุ่นท็อปเช่นกัน
สำหรับการตกแต่งภายนอกและภายใน รุ่น ไททาเนี่ยม พลัส ขับเคลื่อน 2 ล้อ แทบไม่ต่างจากรุ่นขับเคลื่อน 4 มีเพียงเครื่องยนต์และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ
เอเวอเรสต์ รุ่น ไททาเนี่ยม พลัส 4×2 ใช้เครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรล เทอร์โบ 4 สูบ 16 วาล์ว ขนาด 2.0 ลิตร 180 แรงม้า ที่ 3,500 รตน. แรงบิดที่ 420 นิวตันเมตร (42.8 กก.-ม.) ที่ 1,750-2,500 รตน. บล็อกนี้มาแทนเครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรล เทอร์โบ 4 สูบ 16 วาล์ว ขนาด 2.2 ลิตร 160 แรงม้า ที่ 3,200 รตน. ให้แรงบิด 390 นิวตันเมตร หรือ 39.3 กก.-ม. ที่ 1,600-2,600 รตน และระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ บล็อคเดิม
ด้านอัตราเร่ง รุ่นเครื่องยนต์ 180 แรงม้า จะจูนและเซ็ทอัพจังหวะออกตัวไว้ค่อนข้างจัดจ้านกว่ารุ่น 213 แรงม้า แต่ก็ได้ความรู้สึกแค่จังหวะออกตัว หลังจากนั้น ช่วงเร่งต่อเนื่องจะต้องใช้คันเร่งที่หนักมากขึ้นและเห็นถึงความแตกต่างของเครื่องยนต์ 180 แรงม้าและ 213 แรงม้า ทันที เรียกว่าให้กำลังมาเพียงพอแต่การตอบสนองต่าง ๆ ยังสู้รุ่น เทอร์โบคู่ 213 ไม่ได้ อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยจากมาตรวัดเรือนไมล์ อยู่ที่ประมาณ 10 กิโลเมตร/ลิตร
สำหรับการทดสอบในเส้นทางธรรมชาติ แม้ว่าเราจะขับรุ่น ขับเคลื่อน 2 ล้อเดินทางเข้าไป แต่สภาพเส้นทางธรรมชาติ ช่วงนั้น ไม่ได้สมบุกสมบันมากนัก เรียกว่ายังสามารถใช้รถขับเคลื่อน 2 ล้อ ผ่านเข้าไปได้ ที่สำคัญ เอเวอเรสต์ มีความสูงใต้ท้องจากพื้นถึงตัวรถ 225 มม. สูงที่สุดในรถระดับเดียวกัน และลุยน้ำได้ลึก 800 มม. กับมุมไต่ 29 องศา และมุมจาก 25 องศา มุมคร่อม 21 องศา ทำให้เราสามรถข้ามผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ตลอดเส้นทางไปได้อย่างสบาย
ระบบกันสะเทือนหน้า อิสระปีกนก 2 ชั้นพร้อมคอยล์สปริงและเหล็กกันโคลง ด้านหลังแบบคอยล์สปริงพร้อมวัตต์ลิงค์และเหล็กกันโคลง ใช้ระบบพวงมาลัยพาวเวอร์แบบผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า มาพร้อมล้ออัลลอย ขนาด 20 นิ้ว พร้อมยางขนาด 265/50 R20
ระบบพวงมาลัยไฟฟ้าที่สะดวกสบาย และช่วงล่างแบบคอยล์สปริงพร้อมวัตต์ลิงค์ด้านหลัง รวมทั้งการปรับเซ็ทโช้คอัพที่เน้นควมนุ่มนวลมากขึ้น ทำให้ในช่วงขากลับเดินทางเข้ากรุงเทพ ฯ รู้สึกถึงความต่างจากการปรับเซ็ทโช้คอัพค่อนข้างมาก เพราะมีการโยนตัวของรถ อาการดิ้นของช่วงล่างที่มากขึ้น เรียกได้ว่าคาแร็คเตอร์ เดิม ๆ ที่แน่นหนึบกระด้างเล็กน้อยนั้นหายไป จากการขับทดสอบทั้ง 2 รุ่นจะพบว่า รุ่น ขับเคลื่อน 4 จะควบคุมรถได้ดีกว่า อาการยุบย้วยก็มีไม่เท่ากับรุ่น ขับเคลื่อน 2 ล้อ
ด้านเทคโนโลยีช่วยขับขี่ และระบบปลอดภัยก็ให้มามากมาย ไม่ต่างจากรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อไททาเนียม พลัส
ได้แก่ ระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทาง ระบบเตือนการชนด้านหน้า ระบบแจ้งเตือนการขับขี่ ระบบเปิด-ปิดไฟสูงอัจฉริยะ กล้องมองหลังขณะถอยจอดและสัญญาณเตือนระยะจอดด้านหน้า ระบบตรวจจับรถในจุดบอด ที่มาพร้อมระบบตรวจจับรถขณะออกจากซองจอด
นอกจากนี้ยังติดตั้งระบบความปลอดภัย ทั้ง ระบบช่วยเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติพร้อมระบบตรวจจับคนเดินถนน ของฟอร์ด ซึ่งผสานระบบเบรกแบบ Inter-Urban Autonomous Emergency Braking (AEB) เข้ากับระบบตรวจจับคนเดินถนน และระบบตรวจจับยานพาหนะ บริเวณรอบตัวรถ เพื่อหยุดรถ และช่วยลดอัตราการชนท้ายและการชนคนเดินถนนลง โดยระบบนี้จะทำงานเมื่อใช้ความเร็วสูงกว่า 3.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป มีระบบตรวจจับลมยาง กุญแจรีโมทอัจฉริยะและปุ่มสตาร์ทรถอัตโนมัติ ช่วยให้ผู้ขับ สามารถสตาร์ทรถได้รวดเร็ว สะดวกสบายกว่าเดิม
บทสรุป
ภาพรวมหลังการทดสอบ พบว่า ฟอร์ด เอเวอเรสต์ รุ่นปี 2018 ได้รับการพัฒนาเครื่องยนต์ให้โดดเด่นมากขึ้น มี 2 ทางเลือก ทั้ง 180/213 แรงม้า และเกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ ตอบสนองได้ดี และมีบุคลิคการเร่งที่ต่างกนชัดเจน ให้กำลังเหลือ การขับใช้งานรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ จะดูลงตัวมากกว่า รุ่น ขับเคลื่อน 2 ล้อ ที่ค่อนข้างนุ่มนวล แต่ก็ต้องจ่ายราคาค่าตังรถที่แพงกว่า เรียกว่าเป็นรถอเนกประสงค์ที่มีความสมบรูณ์แบบจัดเต็มด้านอุปกรณ์ความปลอดภัยเหนือคู่แข่ง การใช้งานค่อนข้างลงตัวลุ้นเครื่องยนต์และเกียร์ทนอึดก็พอ
ราคา ฟอร์ด เอเวอเรสต์ ใหม่
รุ่นไทเทเนี่ยม พลัส เครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร ไบเทอร์โบ ขับเคลื่อน 4 ล้อ เกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ ราคา 1,799,000 บาท
รุ่นไทเทเนี่ยม พลัส เครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร เทอร์โบ ขับเคลื่อน 2 ล้อ เกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ ราคา 1,599,000 บาท
The gallery was not found!