มองข้ามหัวเชื้อ.! ใส่ใจกับ น้ำมันเครื่อง ดีกว่า…
หัวเชื้อน้ำมันเครื่องยนต์…!! สร้างกระแสข่าวคึกโครม กูรูยานยนต์หลายท่าน ต่างออกมาสับกันเละเทะ เต็มหน้าเพจ ทีวี และกระแสโซเชียล เราจะไม่ตัดสินว่ามันดีหรือไม่ดีอย่างไร รอให้หน่วยงานของรัฐ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ มาพิสูจน์ อาทิ กระทรวงวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และผู้ที่เชี่ยวชาญด้านน้ำมันเครื่อง และด้านเคมี เขาออกมาให้คำตอบในเรื่องนี้จะดีกว่า
ใช่หรือไม่ใช่ ชัวร์หรือไม่ขัวร์ การพิสูจน์ทราบทางวิทยาศาสตร์ เท่านั้นถึงจะชัดเจนที่สุด หากผู้บริโภคยังปักใจเชื่อซื้อไปใช้ เพราะคาดหวังว่ามันอาจจะช่วยให้รถคันรักของเขามีกำลังเพิ่มขึ้น ทนทานขึ้น ประหยัดน้ำมันขึ้น นั่นเป็นเรื่องของศรัทธาที่ห้ามกันไม่ได้ แต่หากรถท่านเสียหาย ท่านต้องไปพิสูจน์ทราบกันเอาเองว่า มันเสียหาย เพราะรถเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานหรือมาจากหัวเชื้อมันมันเครื่องที่เติมเข้าไป จริงมั๊ย
อย่างน้อยต้องฉุกคิดและมองอีกมุมด้วยว่า หัวเชื้อขายมานานหรือยัง ขายไปเยอะแค่ไหน ถ้ามันเลวร้ายสุด ๆ น่าจะมีผู้เสียหายมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งบุคคลเหล่านี้น่าจะพึ่งพิงกฎหมายและหน่วยงานของรัฐในการร้องเรียน และเรียกค่าเสียหาย ซึ่งพวกเราคงต้องติดตามกันต่อไป ใครถูก ใครผิด ใครเสียหาย สุดทายกระบวนการทางกฎหมายจะสามารถชี้ชัดได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะเสนอแนะ มีสิทธิที่จะท้วงติง แต่ถ้าเกินขอบเขตที่พึงจะมีก็ต้องพร้อมที่จะยอมรับผลของการกระทำนั้นด้วย
carinner แนะนำว่า เลือกใช้น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ เกรดดี ๆ อย่างซินเธติก ก็เพียงพอ สำหรับรถใหม่ ไม่ต้องคิดมาก เพราะยังอยู่ในการรับประกันของศูนย์ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องยนต์ ทำตามอายุการใช้งาน รถใหม่ในประกันน้ำมันเครื่องเป็นหน้าที่ของศูนย์บริการเขาจัดหามาเปลี่ยน ซึ่งปัจจุบันบางศูนย์จะมีน้ำมันเครื่องสังเคราะห์เกรดพรีเมียม มานำเสนอด้วย แต่ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าเอง และคิดว่ากลุ่มนี้ไม่ใช่กลุ่มที่เริ่มถามหาหัวเชื้อน้ำมันเครื่องมาเติม
ผู้ใช้รถที่มองหาหัวเชื้อน้ำมันเครื่อง ส่วนใหญ่น่าจะเป็นกลุ่มที่ใช้รถเก่าอายุเยอะ 5-10 ปี ขึ้นไปหรือนิยมซื้อรถยนต์มือสอง มาใช้ และมีความคาดหวังอยากจะให้รถขับได้ดี เครื่องยนต์ทนทาน สามารถอยู่กับเราได้ยาวนาน พอได้รับข้อมูลของหัวเชื้อขั้นเทพ ทั้งหลาย จึงซื้อมาเติมเพื่อเพราะสรรพคุณที่แปะไว้ข้างกล่อง รวมถึง บรรดาเซลส์ ที่ปรุงแต่งข้อมูล จนเจ้าของรถเผลอใจอ่อนซื้อไปเติมก็มี
เอาเป็นว่า เรื่องหัวเชื้อบางยี่ห้อ เติมแล้วเครื่องยนต์มันเสียเพราะอะไร ? ยังไม่สามารถรู้ได้ แต่เรื่องที่ต้องรู้คือรถยนต์ของท่านมีเครื่องยนต์ในการสร้างพลังขับเคลื่อน กลไกการทำงานของเครื่องยนต์ต่างก็ต้องอาศัยน้ำมันมาช่วยในการหล่อลื่น เพื่อ !!! ลดการเสียดสีและลดการสึกหรอ นั่นคือหน้าที่หลักของน้ำมันเครื่อง หากนำหัวเชื้อน้ำมันเครื่อง เติมเข้าไป มันจะผสมปนไปกับน้ำมันเครื่องอยู่ดี หัวเชื้อน้ำมันเครื่องมีปริมาณอย่างมาก ไม่เกิน 300-500 ซีซี ทำหน้าที่เดียวกัน คือ เข้าไปหล่อลื่น แต่ก็มักจะคุยว่า มันปกป้องทันทีตั้งแต่สตาร์ทรถ เพราะสามารถสร้างฟิล์มใสเคลือบไปกับกระบอกสูบและเสื้อสูบ รวมถึงกลไกลต่าง ๆ ได้ หัวเชื้อน้ำมันเครื่องจะไม่ไหลลงไปรวมที่ก้นแครงค์ (ตอนดับเครื่องยนต์) ถ้าดูจากเหตุผลเหล่านี้ หัวเชื้อน้ำมันเครื่องก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย แต่ เอ ! แล้วแบบนี้ ถ้าเรามีเงินพอ เปลี่ยนน้ำมันเครื่องซินเธติค คุณภาพสูง ไม่ดีกว่าหรือ ?… เพราะน้ำมันเครื่องซินเธติค ผสมสารปรุงแต่ง หรือ Additive มาด้วย จึงมีความข้นใสที่โดดเด่น ทนความร้อนสูง ยังสามารถสร้างฟิล์มน้ำมันในการเคลือบผิวโลหะ ปกป้องการสึกหรอได้ดีเช่นกัน
สรรพคุณที่แปะไว้ตามข้างกล่อง ยุคนี้ อ่านเพื่อเป็นข้อมูลประกอบ อย่าปักใจเชื่อ เพราะ ใคร ๆ ก็ต้องเขียนโฆษณาว่าสินค้า ของตนเองดี หากสรรพคุณมันคล้ายกัน เลือกใช้น้ำมันเครื่องคุณภาพสูง เกรดพรีเมียมดีกว่า เอาเงินส่วนต่างที่ท่านต้องไปซื้อหัวเชื้อเติม มาจ่ายเพิ่มเพื่อซื้อน้ำมันเครื่องคุณภาพดีจะดีกว่า
ส่วนผู้ที่ต้องการให้รถมีความสมบรูณ์ เบื่ออาการเครื่องยนต์เดินไม่เรียบ เครื่องยนต์สะดุด ความร้อนขึ้น เร่งไม่ขึ้น ขับแล้วอืด ควรจำไว้ว่า ไม่เกี่ยวกับหัวเชื้อ เราควรจะไปหาสาเหตุ ให้ชัดว่า เครื่องยนต์รถเราเดินสะดุดเพราะสาเหตุอะไร เข้าศูนย์ หรืออู่ที่มีความชำนาญ ดูว่า ระบบไฟของเครื่องยนต์มัปัญหาหรือไม่ อาทิ ไฟคอยล์ สายคอยล์ หัวเทียน สายสัญญาณ ต่าง ๆ เช่นสายสัญญาณหัวฉัด หรือ หากเป็นระบบน้ำมัน ต้องเช็คไล่ดูตั้งแต่ ปั๊มติ๊ก ไส้กรองน้ำมัน หัวฉีด อย่างนี้เป็นต้น หรือรถวิ่งอืด ก็ต้องมาดูว่าอืดเพราะอะไร กำลังอัดเครื่องยนต์ตกรึป่าว น้ำมันเครื่องเปลี่ยนมานานหรือยัง เบอร์น้ำมันเครื่องตรงตามสเป็คหรือไม่ หรืออืดจากชุดขับเคลื่อน เช่นเกียร์อัตโนมัติเสื่อมสภาพ หรือใกล้พัง เกียร์ธรรมดา ผ้าคลัทช์หมด คลัทช์ลื่นก็เป็นได้ ทุกอย่างเาต้องเรียนรูและเข้าใจว่า รถยนต์ทุกคันมีอายุการช้งาน การเสื่อมสภาพมีแน่นอน
วัยรุ่น ที่มโนไปว่า เติมหัวเชื้อแล้วรถยนต์จะแรงขึ้น หรือประหยัดน้ำมันขึ้น แบบนี้น่ากลัว !!! ต้องเข้าใจไว้เเลยว่า เครื่องยนต์จะสร้างกำลังได้จากกำลังอัดเครื่องยนต์ในห้องเผาไหม้ จะมากหรือน้อยก็ตามขนาดความจุเครื่องยนต์ ส่วนเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยก็เช่น การระบายของ วาล์ว เปิด/ปิด ไอดี/ไอเสีย แบบแปรผัน ฝั่งเดียวหรือสองฝั่ง (ไอดี /ไอเสีย) ก็เพื่อให้ได้การเผาไหม้ที่สมบรูณ์และแม่นยำที่สุด การฉีดจ่ายน้ำมันไปยังห้องเผาไหม้เพื่อจุดระเบิด ก็จะทำการสั่งจ่ายผ่านกล่องอีซียู เท่านั้นกำลังที่ได้เท่าเดิม ยกเว้นว่ากลไกลต่าง ๆ เริ่มเสื่อมสภาพลงไป
ถ้าจะให้รถแรงขึ้นก็ต้องไปยุ่งกับอุปกรณ์เหล่านี้เท่านั้น เช่นอยากให้มันแรง ก็ต้องหาอุปกร์เพ่มกำลังอัด เช่น เทอร์โบ หรืออยากจะให้ วิ่งขึ้น บางราย ไปยุ่งเกี่ยวกับการสั่งจ่ายระบบการทำงานต่าง ๆ เช่น พ่วงกล่องอีซียู Piggy Back หรือ Stand Alone ถ้าเป็นยุคนี้ กลุ่มดีเซล คอมมอนเรล เขามักจะพูดติดปากว่า ยกหัวฉีด ดันราง ประมาณนั้น หรือตอนนี้ มันจะฮิตกันมาก คือการ เข้าไปแก้ไข ข้อมูลของ อีซียู ใหม่ หรือ รีแม็บ มาดูว่ามันคืออะไรบ้าง
-กล่องดันราง คือ การเพิ่มแรงดันในระบบคอมมอนเรล ซึ่งทำได้โดยการแปลงสัญญาณ ECU ที่ควบคุมในส่วนของปั๊มเชื้อเพลิงให้ปั๊มสร้างแรงดันในระบบที่สูงขึ้นกว่าเดิม
– กล่องยกหัวฉีด คือ การแปลงสัญญาณขยายระยะเวลาในการยกตัวของเข็มหัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ฉีดได้ในปริมาณที่มากขึ้นใน 1 จังหวะการทำงาน ทำให้สามารถควบคุมปริมาณเชื้อเพลิงตามต้องการได้
– การปลดบูสท์ คือ การปลดล็อคสัญญาณการตรวจจับแรงดันอากาศในท่อร่วมไอดี ให้สามารถทำแรงดันได้เกินค่าที่กำหนดโดยที่เครื่องไม่ถูกสั่งตัดเชื้อเพลิง
– การปลดล็อคความเร็ว คือ การปลดล็อคสัญญาณลิมิตของความเร็วรถให้วิ่งได้เกินค่าที่โรงงานล็อคเอาไว้
– การปลดล็อคคันเร่งไฟฟ้า คือ การแปลงสัญญาณของตัวคันเร่งไฟฟ้า ให้ตอบสนองได้ไวขึ้น มีการหน่วงน้อยลงหรือไม่มีเลย
– การรีแมพ มีความเสถียรสูง ทำหน้าที่คล้ายกล่อง Stand Alone โดยใช้กล่องเดิมจากโรงงาน มาตั้งค่าใหม่ ผ่านโปรแกรม สามารถควบคุมชิ้นส่วนบางตัวที่ กล่องอื่นๆไม่สามารถทำได้ เช่น ปลดล๊อคค่าต่างๆ ตั้งค่า ลิ้นไฟฟ้า เพื่อไม่ให้ปิดในรอบสูง ตั้งคันเร่งไฟฟ้าได้
นี่เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่อยากจะนำเสนอหรือทำความเข้าใจ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยังคงยึดโยงกับ ค่าของโรงงานที่เซ็ทอัพหรือตั้งค่ามาแล้ว ไม่อยากให้เข้าไปแก้ไขดัดแปลง เพราะผลเสียที่ตามมาก็มี อาทิ อาจทำให้ประกันจากศูนย์หลุด เครื่องยนต์เสื่อมสภาพไว ทุกวันนี้ขับในเมืองเร็วหน่อย ใบสั่งก็ส่งมาถึงบ้านอยู่แล้ว ยิ่งขับนอกเมืองกล้องจับความเร็วมีอยู่มากมาย อันตรายจากอุบัติเหตุก็มีอยู่รอบตัว ถ้าไม่ใช่สายแข่งในสนาม ใช้รถเดิม ๆ ดีที่สุดครับ
มาดูมาตรฐานของน้ำมันเครื่อง เบนซิน (S) และ ดีเซล (C)
น้ำมันเครื่องที่ใช้กับรถยนต์ แบ่งได้ออกเป็น 2 มาตรฐาน ตามลักษณะการใช้เชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ว่าเป็นชนิด แก๊สโซลีน หรือ ดีเซลเป็นเชื้อเพลิง เพราะเครื่องยนต์ทั้งสองชนิด จะมีการออกแบบที่แตกต่างกัน อีกทั้งการเผาไหม้ของทั้งสองเชื้อเพลิง ต่างก็ได้เขม่า และสารตกค้างหลังการเผาไหม้ที่ไม่เหมือนกัน ผู้ผลิตน้ำมันเครื่องจึงต้องผสมสารปรุงแต่ง หรือ Additive ให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์แต่ละประเภท ซึ่งสัญลักษณ์การกำหนดมาตรฐานก็จะต่างกัน แล้วแต่ละสถาบันจะเป็นผู้กำหนด
น้ำมันเครื่องที่วางขายในบ้านเรา ส่วนใหญ่จะใช้มาตรฐาน API เพราะถือว่านี้ โดยแสดงเครื่องหมายในรูปของวงกลม ไว้ข้างกระป๋อง หรือแสดงเครื่องหมายให้เห็นอย่างชัดเจน
น้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน จะมีอักษรนำหน้าว่า S (Service Stations Classifications) เริ่มจาก SA เป็นมาตรฐานน้ำมันเครื่องรุ่นเก่าๆสมัยแรกๆ ต่อมาได้พัฒนาและปรับเปลี่ยนมาตรฐานให้สูงมากขึ้นตามเทคโนโลยี่จนปัจจุบัน SM ถือว่าเป็นมาตรฐานสูงสุด
น้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล จะมีอักษรนำหน้าว่า C (COMMERCIAL SERVICE-COMPRESSION IGNITION) เริ่มจากมาตรฐาน CA – CB จนในปัจจุบันมาตรฐานสูงสุดของน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลคือ CI-4 เลข 4 หมายถึงใช้กับครื่องยนต์แบบ 4 จังหวะ การแสดงค่ามาตรฐานข้างกระป๋อง จะมีการระบุค่าขึ้นต้นด้วย หน่วยงานรับรองมาตรฐาน เช่น API แล้วตามท้ายด้วย อักษรค่ามาตรฐาน
น้ำมันเครื่องมีค่าความหนืด (Viscosity) หรือความต้านทานการไหล โดยมีตัวแปรอยู่ที่อุณหภูมิ การวัดความหนืดของน้ำมันเครื่อง ตามหลักสากลเป็นมาตรฐานตามชื่อเรียกของสถาบันต่างๆ อาทิ
API – AMERICAN PETROLEUM INSTITUTE
SAE – SOCIETY OF AUTOMOTIVE ENGINEERS
เบอร์น้ำมันเครื่องตัวท้าย มีตั้งแต่ 0 – 60 จากการวัดค่าความหนืดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ออกมาเป็นตัวเลขเรียกว่า เบอร์ของน้ำมันเครื่อง ตามมาตรฐานสากล ค่าความหนืด เช่น 60, 50, 40, 30, 20, 10 และ 5 ค่าตัวเลขมากยิ่งหนืดมาก ตัวเลขน้อยยิ่งหนืดน้อยตามลำดับ
ส่วนค่า W คืออะไร น้ำมันเครื่องในเขตเมืองหนาว จะมีการวัดต่างออกไป เป็นการวัดความต้านทานการเป็นไข โดยวัดตั้งแต่อุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ต่ำลงมาจนถึงจุดเยือกแข็งตั่งแต่ 0 องศา จนถึงต่ำกว่า – 30 องศาเซลเซียส โดยมีตัวอักษรระบุไว้เป็นตัวอักษร W หรือ WINTER เช่น
0W = สามารถคงความข้นใสไว้ได้ต่ำกว่า – 30 องศาเซลเซียส โดยไม่เป็นไข
5W = สามารถคงความข้นใสไว้ได้ถึง – 30 องศาเซลเซียส โดยไม่เป็นไข
10W= สามารถคงความข้นใสไว้ได้ถึง – 20 องศาเซลเซียส โดยไม่เป็นไข
15W= สามารถคงความข้นใสไว้ได้ถึง – 10 องศาเซลเซียส โดยไม่เป็นไข
20W= สามารถคงความข้นใสไว้ได้ถึง 0 องศาเซลเซียส โดยไม่เป็นไข
อย่างไรก็ตามน้ำมันเครื่องจะดีจะแพงแค่ไหน เมื่อถูกใช้งานจะเสื่อมคุณภาพลงเรื่อยๆ เนื่องจากการสะสมของกรด ที่เข้ามาทำลายความเป็นด่างในน้ำมันเครื่อง การสะสมของน้ำ ฝุ่นละออง คราบเขม่าในการเผาไหม้ และเศษโลหะจากการสึกหรอเครื่องยนต์ ดั้งนั้นเมื่อเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องทุกครั้ง ต้องจดบันทึก วันที่ เดือน ปี เลขกิโลเมตร ทุกครั้ง นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตการทำงานที่เปลี่ยน แปลง ของน้ำมันเครื่องที่เสื่อมสภาพได้ เช่นเสียงเครื่องยนต์ดัง อัตราเร่งอืด ต้องคิกดาวน์บ่อย กินน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้น เป็นต้น