โตโยต้า สร้างธุรกิจมืออาชีพ ณ ศูนย์ส่งเสริมฝีมือจักสานด้วยไม้ไผ่
ข่าววันนี้ :
นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตแบบโตโยต้า เข้าติดตามผลการไคเซ็นธุรกิจด้วยตนเอง ณ ศูนย์ส่งเสริมฝีมือจักสานด้วยไม้ไผ่ “บริบูรณ์ คราฟท์” ซึ่งเป็น 1 ใน 12 ธุรกิจชุมชนในโครงการฯ ปี 2561 เพื่อตรวจประเมินความพร้อมในการยกระดับเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” แห่งที่ 4 ศูนย์กลางการถ่ายทอดประสบการณ์การไคเซ็นธุรกิจประจำจังหวัดชลบุรี ในวันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม 2562 ณ ศูนย์ส่งเสริมฝีมือจักสานด้วยไม้ไผ่ อ. พนัสนิคม จ. ชลบุรี
ศูนย์ส่งเสริมฝีมือจักสานด้วยไม้ไผ่ อ. พนัสนิคม จ. ชลบุรี เป็นผู้ประกอบการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์งานฝีมือและของที่ระลึกจากไม้ไผ่ ภายใต้แบรนด์ บริบูรณ์ คราฟท์ บริหารงานโดย นายคมกฤช บริบูรณ์ ที่มีแนวทางมุ่งเน้นการรักษาภูมิปัญญาจักสานไม้ไผ่ และส่งเสริมการถ่ายทอดฝีมือของท้องถิ่นไว้ให้คงอยู่คู่กับชาวพนัสนิคม ตลอดจนมุ่งเน้นการสร้างอาชีพแก่กลุ่มแม่บ้านในอำเภอพนัสนิคมผ่านการจ้างงานกว่า 85 ครัวเรือน โดยธุรกิจฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรมการไคเซ็นธุรกิจภายใต้ โครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ในปี พ.ศ. 2561 โดยได้นำองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจของโตโยต้าเข้าปรับปรุงการดำเนินงาน ดังนี้
1. แนะนำระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี หรือ Just in time เพื่อให้ธุรกิจสามารถวางแผนการขายและแผนการผลิตอย่างมืออาชีพ สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เหมาะสมของสภาวะตลาด และบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. แนะนำระบบการมองเห็น (Visualization) เพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
2.1. วางแผนควบคุมและติดตามสถานะในกระบวนการผลิต เริ่มตั้งแต่การรับคำสั่งซื้อ การเตรียมวัตถุดิบ การผลิต และกำหนดส่งมอบ เพื่อให้สามารถวางแผนการผลิตและส่งมอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความสูญเสียทางธุรกิจ สร้างความเป็นมืออาชีพ
2.2. วางแผนการกระจายงานแก่ลูกบ้าน โดยมีการประเมินความสามารถในการผลิตของลูกบ้านแต่ละราย ก่อนทำการวางแผนการกระจายงาน และติดตามงานอย่างเหมาะสม เพื่อให้สามารถกระจายงานได้เต็มความสามารถในการผลิต ลดการเสียโอกาสจากการกระจายงานไม่มีประสิทธิภาพ ลดงานคงค้างและเงินจม ทั้งนี้ จากการใช้ระบบการมองเห็น ส่งผลให้ธุรกิจสามารถกระจายงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความสามารถในการผลิตจากเดิมที่เฉลี่ย 160 ชิ้นต่อเดือน เป็น 220 ชิ้นต่อเดือน
3. แนะนำความรู้ การจัดการสินค้าคงคลังแบบโตโยต้า ทั้งในส่วนของวัตถุดิบ และ สินค้าพร้อมจำหน่าย โดยสอนให้คัดแยกประเภทพร้อมระบุมูลค่า การหาแนวทางการจัดการสินค้าหรือวัตถุดิบที่ไม่เคลื่อนไหวอย่างเหมาะสม ตลอดจนการนำเครื่องมือต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนการบริหารคลังสินค้า อาทิ ระบบการมองเห็น ระบบคัมบัง โดยผลจากการนำระบบจัดการคลังสินค้ามาใช้ส่งผลให้ธุรกิจตรวจสอบพบเงินจมในคลังสินค้าและงานกระจายตามบ้านเป็นมูลค่ากว่า 1,260,000 บาท ซึ่งปัจจุบันธุรกิจสามารถลดมูลค่าเงินจมจากสินค้าคงค้างในกระบวนการและสินค้าไม่เคลื่อนไหวไปได้แล้วกว่า 440,000 บาท