10 เรื่องที่คุณยังไม่รู้ เกี่ยวกับจีเอ็มและเชฟโรเลต
จากรายงานทั่วโลก ระบุว่า จีเอ็มและฝ่ายผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติของบริษัท ครูซ ออโตเมชั่น (Cruise Automation) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ ประกาศร่วมมือกับฮอนด้าสานต่อจุดมุ่งหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีขับเคลื่อนยานยนต์ด้วยระบบอัตโนมัติ
ฮอนด้าจะทำงานร่วมกับครูซและเจนเนอรัล มอเตอร์ส เพื่อลงทุนและพัฒนายานยนต์ไร้คนขับสำหรับครูซเพื่อการใช้งานทั่วโลก ในการร่วมมือในครั้งนี้ ฮอนด้าจะใช้งบลงทุนกว่า 2.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มการลงทุนกว่า 2.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากนักลงทุนในกองทุนวิชั่นฟันด์ (Vision Fund) ของซอฟท์แบงค์ (Softbank) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ความร่วมมือและการระดมทุนครั้งสำคัญนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับจีเอ็ม ในฐานะเป็นผู้นำเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ โดยจีเอ็มมีแผนที่จะเปิดตัวยานยนต์ไร้คนขับในปี 2562 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในวิสัยทัศน์ของการพัฒนายานยนต์ในอนาคตเพื่อต้องการทำให้อุบัติเหตุเป็นศูนย์ ไร้มลพิษ และปราศจากความแออัด
คุณอาจจะยังไม่รู้ว่า จีเอ็มได้นำเอาเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับเข้าสู่ประเทศไทยแล้ว ในรูปแบบรถลำเลียงขนส่งชิ้นส่วนอัตโนมัติ หรือ Autonomous guided vehicles (AGV) เราเรียกรถดังกล่าวว่า “บัมเบิลบี” (Bumblebees) ซึ่งเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ทำหน้าที่ส่งชิ้นส่วนและส่วนประกอบไปยังสายการผลิตของรถกระบะเชฟโรเลต โคโลราโด และรถอเนกประสงค์เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ ที่ศูนย์การผลิตของจีเอ็ม ประเทศไทย ในจังหวัดระยอง รถลำเลียงขนส่งชิ้นส่วนอัตโนมัตินี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่งชิ้นส่วนไปยังสายการผลิต
ว่าด้วยเรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยีจากดีทรอยต์สู่ศูนย์การผลิตในจังหวัดระยอง เทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของการสร้างนวัตกรรมและความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ก้าวล้ำของจีเอ็มในระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกนำมาใช้ในรถยนต์ของเชฟโรเลต เราลองมาย้อนความทรงจำถึงเหตุการณ์ในอดีตกันว่า ไฮไลต์สำคัญของจีเอ็มและเชฟโรเลตนั้นมีอะไรบ้าง ไม่แน่ว่าเรื่องราวบางเรื่องอาจจะสร้างความประหลาดใจให้คุณก็เป็นได้
5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับจีเอ็ม
1. ผู้พัฒนาด้านเซลส์เชื้อเพลิง (Fuel Cell): ความร่วมมือในการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับระหว่างจีเอ็มและฮอนด้าครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ปี 2533 ทั้งสองบริษัทได้ร่วมมือกันพัฒนารถยนต์หลากหลายรุ่น และคิดค้นเทคโนโลยีต่างๆ ร่วมกัน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จีเอ็มและฮอนด้าได้ลงนามข้อตกลงในการพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในปี 2560 ทั้งสองบริษัทได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อผลิตระบบเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนชั้นสูงในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตการผลิตในปี 2563
2. ผู้คิดค้นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า: ในขณะที่ความสำเร็จของจีเอ็มด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนจากเชฟโรเลต โบลต์ และเชฟโรเลต โวลต์ รถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นแรกของบริษัทซึ่งได้รับการเปิดตัวไปเมื่อหลายปีก่อน ตั้งแต่ปี 2539 ถึงปี 2542 จีเอ็มได้ออกแบบและผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ายุคใหม่ รุ่น EV1 ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกที่ผลิตจำนวนมากโดยผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ EV1 เป็นรถพลังงานไฟฟ้ารุ่นแรกที่ได้รับการออกแบบให้เป็นรถยนต์ขนาดเล็กที่เป็นรถโดยสารคันแรกและรุ่นเดียวที่จะวางขายในตลาด ภายใต้แบรนด์จีเอ็ม แทนที่จะตีตราแบรนด์อื่น
3. ผู้บุกเบิกสนามทดสอบรถยนต์: จีเอ็มเป็นบริษัทรถรายแรกที่สร้างสนามทดสอบรถยนต์ เมื่อปี 2467 โดยตั้งอยู่ที่เมืองมิลฟอร์ด รัฐมิชิแกน มีขนาดพื้นที่ 16 ตารางกิโลเมตร มีเส้นทางทดสอบรถความยาวกว่า 212 กิโลเมตร เพื่อใช้ทดสอบการขับขี่ในรูปแบบต่างๆ รถทุกๆ คันของจีเอ็มจากทุกตลาดทั่วโลกจะต้องผ่านการทดสอบโดยเจ้าหน้าที่จีเอ็ม ที่สนามทดสอบรถยนต์แห่งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีเอ็มได้เปิดสนามทดสอบรถยนต์หลายแห่งในทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป ออสเตรเลีย และจีน ซึ่งสนามทดสอบรถยนต์หลายแห่งยังคงเปิดดำเนินการอยู่ถึงทุกวันนี้
4. ผู้นำด้านความปลอดภัย: การออกแบบหุ่นจำลองทดสอบการชนรุ่นแรกๆ ของจีเอ็ม (Crash test dummies) กลายเป็นตัวกำหนดมาตรฐานให้อุตสาหกรรมรถยนต์สำหรับงานวิจัยเพื่อความปลอดภัยในการชน ทุกวันนี้จีเอ็มใช้หุ่นจำลองในทุกรูปแบบและทุกขนาดภายในห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัย โดยแต่ละตัวมีเซ็นเซอร์ 70-80 ตัวที่คอยจับการเคลื่อนไหว และส่งข้อมูลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นถึง 10,000 ครั้งต่อวินาที เพื่อตรวจจับความแรงและประเภทของความรุนแรงในระหว่างการชน ทีมวิศวกรจะศึกษาข้อมูลจากทั้งการทดสอบทางกายภาพ และการจำลองแบบโดยคอมพิวเตอร์ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ ระบบความปลอดภัย และการตอบสนองของผู้โดยสารเมื่อเกิดการชน จากนั้นจึงนำข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ไปใช้ในการพัฒนารถยนต์ต่อไป
5. ผู้สร้างสรรค์ระบบการสื่อสารในรถยนต์: ก่อนที่สมาร์ทโฟนและแอพพลิเคชั่นจะช่วยให้ผู้บริโภคเชื่อมต่อกับศูนย์บริการคอลล์ เซ็นเตอร์ จีเอ็มพัฒนาระบบออน์สตาร์ ซึ่งเป็นระบบการสั่งงานด้วยเสียงแบบแฮนด์ฟรีในรถยนต์เป็นรายแรกของโลก ในปี 2539 เทคโนโลยีออนสตาร์จะใช้ตำแหน่งและการสื่อสารผ่านดาวเทียมทั่วโลก เพื่อเชื่อมการติดต่อระหว่างผู้ขับขี่รถยนต์กับเจ้าหน้าที่ของออนสตาร์ ที่จะให้คำปรึกษาตั้งแต่เส้นทางการขับขี่ไปจนถึงการช่วยเหลือฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง
5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเชฟโรเลต
1. หลุยส์ ตำนานเชฟโรเลต: หลุยส์ เชฟโรเลต เกิดที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี 2454 เขาเป็นนักแข่งรถและวิศวกร หลุยส์ได้ร่วมกับวิลเลียม บิลลี่ ซี ดูแรนท์ ก่อตั้งเชฟโรเลต บริษัทผลิตรถยนต์ในประเทศสหรัฐอเมริกา และเริ่มผลิตรถยนต์รุ่นแรก เมื่อปี 2455 โดยเริ่มจากแชส์ซีส์ C คลาสสิก ซิกส์ (Classic Six) ซึ่งเป็นรถยนต์หรูที่มีเครื่องยนต์สมรรถนะสูงหกสูบ ตามด้วยรุ่น Model H ที่จับต้องได้ง่ายขึ้น ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สี่สูบที่มีความทนทาน ซึ่งช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับเชฟโรเลตในฐานะรถยนต์ที่สามารถไว้วางใจได้ ช่วงปลายปี 2456 หลุยส์ได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองอินเดียแนโพลิส เพื่อมุ่งเน้นไปที่การแข่งรถ ซึ่งเขาและพี่น้องได้กลายเป็นตำนานของการแข่งขันอินเดียแนโพลิส 500
2. เดินหน้าผลิตรถกระบะอย่างต่อเนื่อง: เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา เชฟโรเลตผลิตรถกระบะคันแรก คือ แชส์ซีส์ซีรีส์ 490 ไลท์ เดลิเวอรี่ (Series 490 Light Delivery) และขายในราคาเพียง 595 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 19,000 กว่าบาท) รถกระบะรุ่นดังกล่าวคือจุดเริ่มต้นของตำนานรถกระบะเชฟโรเลตที่แข็งแกร่งซึ่งสานต่อมาจนถึงปัจจุบัน จากรถกระบะโรดสเตอร์ (Roadster) ปี 1930 จนมาถึงรถกระบะแอดวานซ์ ดีไซน์ ซีรีส์ (Advance Design Series) ปี 1947-1955 รถกระบะทาสก์ฟอร์ซ (Task Force) ปี 1955-1959 รถกระบะซี/ เค ซีรี่ส์ (C/K series) ปี 1960-1999 และรถกระบะซิลเวอร์ราโดและโคโลราโด รุ่นปัจจุบัน เชฟโรเลตได้จำหน่ายรถกระบะไปทั่วโลกมากกว่าหลายล้านคัน โดยที่ศูนย์การผลิตของจีเอ็ม ประเทศไทย ได้ผลิตรถกระบะโคโลราโด 481,402 คัน เพื่อจำหน่ายในประเทศไทยและส่งออกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ปี 2546
3. ต้นกำเนิดของรถอเนกประสงค์: กลุ่มรถที่ขายดีที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์ คือ รถอเนกประสงค์ หรือ Sport Utility Vehicle (SUV) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2478 เมื่อเชฟโรเลตได้เปิดตัวรถอเนกประสงค์รุ่นซับเบอร์แบน แคร์รี่ออล (Suburban Carryall) ซึ่งเป็นรถขนาดแปดที่นั่ง สร้างจากโครงตัวถังรถขนาดครึ่งตัน ด้วยราคา 675 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 22,000 กว่าบาท) โดยราคานี้ไม่รวมเครื่องทำความร้อน และกันชนด้านหลังรถ รถอเนกประสงค์คันแรกของโลกแทบจะไม่เหมือนกับรถอเนกประสงค์สำหรับครอบครัวในปัจจุบัน ที่มาพร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกแบบครบครันอย่างรถอเนกประสงค์ เทรลเบลเซอร์ ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย
4. จากสนามแข่งสู่ถนนจริง: เชฟโรเลตมีชื่อเสียงทั้งในด้านสมรรถนะของรถยนต์ เช่น คอร์เวตต์ที่ดูโฉบเฉี่ยว และคามาโรที่มีความแข็งแกร่ง (รุ่นเดียวกับ “บัมเบิลบี” หุ่นจักรกลจากภาพยนตร์ทรานส์ฟอร์มเมอร์ส) รวมถึงความสำเร็จในการแข่งรถ การมีส่วนร่วมในการแข่งรถหรือมอเตอร์สปอร์ตของเชฟโรเลตทำให้มีการ “ถ่ายทอดเทคโนโลยี” จากรถที่ใช้ในสนามแข่งไปยังรถยนต์ที่ผลิตเพื่อการใช้งานทั่วไป ความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีการผลิตเครื่องยนต์หรือเพาเวอร์เทรน พลังงานลมและหลักการของอากาศพลศาสตร์ และยานยนต์ที่มีน้ำหนักเบา ล้วนเป็นเทคโนโลยีที่มาจากรถแข่งทั้งนั้น ก่อนที่จะถูกนำมาใช้ในการผลิตรถยนต์สำหรับวิ่งบนถนนจริง
5. มีมาตรฐานสูงด้านเทคนิค: ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย มีช่างเทคนิคผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพคอยให้บริการในด้านการบำรุงรักษา และซ่อมแซมรถยนต์ของลูกค้า เพื่อให้สามารถบำรุงรักษารถยนต์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ช่างเทคนิคผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพของเชฟโรเลตทุกคนจะต้องผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ เพื่อให้ครอบคลุมทุกเรื่องที่พวกเขาควรรู้ ตั้งแต่ใต้ฝากระโปรงรถไปจนถึงส่วนอื่นๆ โดยหลักสูตรต่างๆ จะครอบคลุมทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความรู้พื้นฐาน ปัญหาที่เกิดขึ้น สมรรถนะของเครื่องยนต์ ระบบปรับสภาวะอากาศ (HVAC) ระบบขับเคลื่อน และเพลา การบังคับพวงมาลัยและช่วงล่างของรถยนต์ การเบรก และอื่นๆ โดยกว่าจะกลายมาเป็นช่างเทคนิคผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพของจีเอ็ม ช่างเทคนิคจะต้องผ่านหลักสูตรทั้งหมด 12 ประเภท รวมถึงการอบรมเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติต่างๆ อีกหลายหลักสูตร