ระบบหล่อเย็นในรถ BMW ทำงานอย่างไร ปรับปรุงได้ไหม?
ปัญหาเรื่องโอเวอร์ฮีทคือสิ่งที่น่ากังวลที่สุดของการเป็นเจ้าของ BMW เรามาทำความเข้าใจกันดีกว่าว่ามันทำงานอย่างไรและปรับปรุงให้ดีขึ้นบ้างจะได้ไหม? COOLING SYSTEMS
ระบบหล่อเย็นทำงานอย่างไร? จะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ไหม?
เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นสิ่งประดิษฐ์อันน่าอัศจรรย์แต่มันก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพดีที่สุดในโลก พลังงานเกือบหนึ่งในสามจะสูญเปล่าไปกับความร้อน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ‘สันดาปภายใน’ และอะไรก็ตามที่มีการจุดระเบิดและเผาไหม้ มันก็ย่อมต้องร้อนเป็นธรรมดา ร้อนจี๋เลยด้วย! พลังงานความร้อนพวกนี้จำเป็นที่จะต้องถูกระบายออกไปจากเครื่องยนต์ ดังนั้น ระบบระบายความร้อนจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
เวลาที่พูดถึงการระบายความร้อนเครื่องยนต์ คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงน้ำกับหม้อน้ำในทันที แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งที่ต้องจัดการมันมีแค่อุณหภูมิน้ำอย่างเดียวซะที่ไหนกันล่ะ น้ำมันเครื่อง อากาศที่ถูกประจุเข้ามา เกียร์ น้ำมันเฟืองท้าย และแม้แต่น้ำมันพาวเวอร์ในรถบางรุ่นจะซึมซับความร้อนเอาไว้ในขณะที่มันทำงาน ซึ่งจำเป็นจะต้องทำให้เย็นลงเพื่อให้อุณหภูมิอยู่ในช่วงเหมาะสม และปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดคุณสมบัติการระบายความร้อนนั้นก็มีมากมายหลายสิ่ง ซึ่งเรากำลังจะเจาะลึกกันในบทความนี้…
คูลเลอร์คืออะไรและทำงานอย่างไร?
อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบระบายความร้อน ไม่ว่าจะเป็นหม้อน้ำ อินเตอร์คูลเลอร์ หรือออยคูลเลอร์ มักจะมีวิธีการทำงานที่คล้ายกัน โดยการเอาน้ำ อากาศ หรือน้ำมัน (ของเหลวในระบบ) ที่ต้องการระบายความร้อนมาวิ่งผ่านคูลเลอร์ ตัวคูลเลอร์จึงควรติดตั้งไว้ในตำแหน่งที่สามารถรับลมได้ตลอดเวลาขณะที่รถกำลังเคลื่อนที่ไปข้างหน้า
ของเหลวในระบบจะวิ่งผ่านท่อในตัวคูลเลอร์ซึ่งมักทำมาจากอะลูมิเนียมและถ่ายเทความร้อนออกไป ความร้อนจะถูกแผ่ออกไปยังอากาศที่อุณหภูมิต่ำกว่ามากที่กำลังไหลผ่านแผ่นฟอยล์หรือครีบบนคูลเลอร์ หลักการอาจฟังดูพื้นๆ แต่แท้จริงแล้วมันมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องพิจารณาประกอบกันเพื่อให้คูลเลอร์ทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์
ในเมื่อเรากำลังพูดถึงคูลเลอร์แบบต่างๆ อยู่แล้ว ก็อยากจะพาไปรู้จักคูลเลอร์อีกประเภทที่ชื่อว่า Chargecooler ไปด้วยเลย หน้าที่ของมันคือการทำให้อากาศที่ถูกประจุผ่านเทอร์โบเย็นลง ความแตกต่างกับอินเตอร์คูลเลอร์ที่ใช้อากาศระบายความร้อนอยู่ที่ Chargecooler จะใช้น้ำในการทำให้อากาศเย็นลง โดยตัวมันประกอบไปด้วยท่อที่จุ่มอยู่ในน้ำซึ่งเป็นจุดที่อากาศที่ถูกประจุไหลผ่าน ความร้อนของอากาศจะถ่ายเทไปหาน้ำที่อยู่รอบๆ ท่อนั้น จากนั้นน้ำพวกนี้ก็ถูกดูดกลับเข้าไปในระบบระบายความร้อนเครื่องยนต์และถูกทำให้เย็นลงด้วยหม้อน้ำอีกทีนึง
ขนาดทางกายภาพ
ขนาดของคูลเลอร์มีผลอย่างมากต่อคุณสมบัติในการระบายความร้อน แต่สิ่งที่ตรงข้ามกับความเชื่อของคนส่วนใหญ่คือ ใหญ่กว่าไม่จำเป็นต้องดีกว่าเสมอไป คูลเลอร์ควรมีขนาดเหมาะสมกับลักษณะการใช้งาน โดยปัจจัยที่มีผลมากกลับเป็นปริมาตรของคูลเลอร์และปริมาณของเหลวในระบบซะมากกว่าขนาดตัวของมันเพียงอย่างเดียว
ตัวอย่างเช่น อินเตอร์คูลเลอร์ขนาดเล็กจิ๋วเท่าออยคูลเลอร์นั้นคงจะใช้การไม่ได้แน่ เช่นเดียวกับออยคูลเลอร์ที่ใหญ่เท่าหม้อน้ำ นั่นก็คงจะไม่ได้เรื่องอีกเหมือนกัน
นี่คือจุดที่เรื่องราวทั้งหมดเริ่มเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น สิ่งสำคัญคือค่าความร้อนจำเพาะของของเหลวในระบบ ซึ่งเป็นตัวบอกว่าของเหลวชนิดนั้นหนัก 1 กิโลกรัม จะกักเก็บพลังงานความร้อนเอาไว้ได้มากหรือน้อยเท่าไหร่ อย่างอากาศที่มีค่าความร้อนจำเพาะ 1.01 กิโลจูลต่อกิโลกรัม ก็หมายความว่าอากาศทุกๆ 1 กิโลกรัม จะเก็บความร้อนไว้ 1.01 กิโลจูล น้ำมันมีค่าความร้อนจำเพาะ 2.13 กิโลจูลต่อกิโลกรัม และน้ำยิ่งสูงขึ้นเป็น 4.18 กิโลจูลต่อกิโลกรัม
สูตรคำนวณจะอ้างอิงจากน้ำหนัก (กิโลกรัม) เป็นหลัก ฉะนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณรู้ว่าของเหลวหนัก 1 กิโลกรัม มีปริมาตรเท่าไหร่ คุณก็จะเริ่มเห็นภาพชัดขึ้น น้ำ 1 กิโลกรัม มีปริมาตร 1 ลิตร ส่วนน้ำมัน 1 กิโลกรัม จะมีปริมาตรมากกว่ากันที่ 1.14 ลิตร ในขณะที่อากาศ 1 กิโลกรัม จะต้องใช้พื้นที่จุมากถึง 1,114 ลิตร! ใช่ครับ หนึ่งพันหนึ่งร้อยสิบสี่!
ตอนนี้คุณคงเห็นภาพแล้วใช่ไหมว่า ทำไมอินเตอร์คูลเลอร์แบบอากาศถึงต้องมีขนาดใหญ่กว่าหม้อน้ำหรือออยคูลเลอร์มากๆ เพื่อให้ประสิทธิภาพเท่ากัน
ปัจจัยอีกอย่างที่มีผลต่อขนาดของคูลเลอร์ก็คือ ระดับอุณหภูมิที่ต้องการลด ตัวอย่างเช่น น้ำมันต้องถูกลดอุณหภูมิลงเพียง 10-15 องศา อากาศที่ถูกอัดผ่านเทอร์โบซึ่งร้อนจัดจะต้องลดอุณหภูมิลงถึง 50-60 องศา เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
ขนาดของคูลเลอร์ที่ดีที่สุดจะต้องมีการประนีประนอมจากหลายปัจจัย โดยมักเริ่มจากพื้นที่ว่างในห้องเครื่องเป็นอย่างแรก ในกรณีของอินเตอร์คูลเลอร์ก็ต้องคำนึงด้วยว่า ปริมาตรยิ่งมากเท่าไหร่ เครื่องยนต์ก็จะยิ่งตอบสนองช้าลงเท่านั้น เพราะจะสูญเสียแรงดันภายในได้มากขึ้น
หม้อน้ำกับออยคูลเลอร์ก็มีปัญหาแรงดันตกเช่นกัน แต่ผลกระทบอาจเห็นไม่ชัดเท่าเทอร์โบแล็ค แต่มันจะสามารถสร้างความเสียหายได้รุนแรงยิ่งกว่า ปั๊มน้ำหรือปั๊มน้ำมันจะต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิมเพื่อดันของเหลวผ่านคูลเลอร์ ซึ่งอาจทำให้เกิดฟองอากาศและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้กับเครื่องยนต์ได้ ฉะนั้นคุณจึงต้องการคูลเลอร์ที่ขนาดแค่ใหญ่พอจะลดอุณหภูมิลงได้ตามต้องการเท่านั้นและไม่ใหญ่จนเกินไป เพราะนั่นจะพาปัญหามาให้คุณได้ในอนาคต
ตำแหน่งการติดตั้ง
ตำแหน่งการติดตั้งคูลเลอร์อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพได้มากที่สุด และมันก็ต้องทำมากกว่าแค่การเฉือนหรือเจาะรูตัวถัง แล้วทึกทักเอาว่าในเมื่อคุณเปิดช่องอากาศให้มันแล้ว ประสิทธิภาพการระบายความร้อนก็คงดีขึ้นเอง อันที่จริงมันไม่เกี่ยวกับปริมาณอากาศที่ไหลไปถึงคูลเลอร์สักเท่าไหร่ แต่ประสิทธิภาพจะขึ้นอยู่กับว่ามันไหลผ่านไปเร็วและสะดวกแค่ไหนา และในบางกรณีก็ต้องดูด้วยว่ามันสร้างแรงต้านอากาศมากหรือน้อย
คูลเลอร์อันเขื่องมักจะแสดงประสิทธิภาพออกมาได้ดีกว่าในตอนทดสอบ แต่ในชีวิตจริงประสิทธิภาพจะขึ้นอยู่กับปริมาณอากาศที่สามารถเข้าไปถึงตัวมันได้ผ่านทางช่องต่างๆ ของตัวถัง ช่องดักลม ฯลฯ เช่นเดียวกับหม้อน้ำใบใหญ่ที่ทดสอบออกมาดีกว่าใบเล็ก แต่ถ้าหากตำแหน่งติดตั้งมีช่องอากาศไหลผ่านขนาดแค่เท่าซองจดหมาย มันก็ทำงานสู้หม้อน้ำเล็กที่อากาศไหลผ่านสะดวกไม่ได้
ความเร็วของอากาศเย็นที่ไหลผ่านอินเตอร์คูลเลอร์ก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง และตำแหน่งติดตั้งคูลเลอร์ก็สามารถกำหนดเรื่องนั้นได้ ออยคูลเลอร์ที่ติดอยู่บนหลังคารถจะมีอากาศไหลผ่านเยอะมาก แต่ผ่านเร็วเกินไป (โดยเฉพาะเมื่ออยู่บนมอเตอร์เวย์) จนไม่มีโอกาสดูดความร้อนไปกับมันด้วย เพราะฉะนั้นประสิทธิภาพจึงไม่ดีเท่าที่ควร แต่หากนำออยคูลเลอร์ตัวเดิมมาติดในซอกในห้องเครื่อง ความเร็วอากาศที่ไหลผ่านจะต่ำลงมากเพราะมีตัวถังรถคอยบดบังลมเอาไว้ แต่ถ้าอากาศไหลผ่านช้าจนเกินไป มันก็ไม่ได้เรื่องอีกเช่นกัน
ปัจจัยอีกอย่างที่อาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญมากนักสำหรับรถถนนก็คือ แรงต้านอากาศที่ของตัวคูลเลอร์ รถแข่งที่นั่งเดี่ยวซึ่งอากาศพลศาสตร์มีผลต่อสมรรถนะเป็นอย่างมาก ตำแหน่งติดตั้งคูลเลอร์จะสามารถก่อให้เกิดแรงต้านอากาศบนรถคันนั้นได้มากเช่นเดียวกัน
ตัวคูลเลอร์
ตัวคูลเลอร์ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนหลัก 2 ส่วน คือ ท่อที่ของเหลวในระบบไหลผ่าน และแผ่นฟอยล์หรือครีบที่อากาศไหลผ่านโดยรอบในขณะที่รถเคลื่อนที่ไปข้างหน้า คูลเลอร์ส่วนใหญ่จะใช้ดีไซน์แบบ ‘Tube and fin’ เว้นแต่อินเตอร์คูลเลอร์ที่ทำมาสำหรับแขวนด้านหน้ารถที่อาจใช้ดีไซน์แบบ ‘Bar and plate’ ทั้งสองแบบมีวิธีการทำงานที่คล้ายกันมาก แต่โครงสร้างที่แข็งแรงกว่าของ ‘Bar and plate’ ทำให้มันสามารถรองรับแรงดันบูสท์สูงๆ และทนต่อแรงกระแทกจากเศษหินหรือกรวดได้ดีกว่า มันจึงเหมาะที่จะนำมาใช้เป็นอินเตอร์คูลเลอร์แขวนหน้ารถนั่นเอง
ดีไซน์ของคูลเลอร์และจำนวนท่อที่ใช้มีผลกระทบอย่างมากต่อคุณสมบัติในการระบายความร้อนของมัน เช่น คูลเลอร์ที่ใช้ท่อขนาด 50 มิลลิเมตร จำนวน 4 หลอด จะมีศักยภาพในการระบายความร้อนได้ดีกว่าคูลเลอร์ที่ใช้ท่อขนาด 20 มิลลิเมตร เพียงหลอดเดียว จำนวนหลอดและขนาดของท่อภายในคูลเลอร์นั้นจะถูกกำหนดจากลักษณะการใช้งานเป็นหลัก
ตัวแปรหลากหลายอย่างสามารถปรับคูลเลอร์ให้มีคุณสมบัติตามต้องการ ตัวแปรแรกคือขนาดของท่อ ท่อขนาดใหญ่จะยอมให้ของเหลวไหลผ่านได้ในปริมาณมากกว่าท่อขนาดเล็ก แต่ก็จะเสียแรงดันไประหว่างทางมากกว่าท่อเล็กเช่นกัน
ปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ได้ในระดับหนึ่งด้วยการใช้ท่อจำนวนมากกว่าหนึ่งเข้ามาช่วย ของเหลวที่ไหลผ่านท่อสองหลอดจะมีความเร็วครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับของเหลวที่ไหลผ่านท่อหนึ่งหลอด ปัญหาแรงดันตกภายในคูลเลอร์ก็ลดน้อยลง
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มจำนวนหลอดจะเท่ากับเพิ่มความหนาของคูลเลอร์ไปด้วยในตัว คูลเลอร์ที่หนาจะก่อให้เกิดแรงต้านซึ่งมีผลกระทบทางด้านอากาศพลศาสตร์ และความเร็วของอากาศที่ไหลภายในคูลเลอร์ก็จะช้าลงด้วย จนกลายเป็นต้นตอปัญหาที่ทำให้อากาศไม่สามารถไหลผ่านคูลเลอร์ออกไปอีกฝั่งได้ และทำให้ประสิทธิภาพในการระบายความร้อนลดลง
วิธีการอย่างหนึ่งที่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้ก็คือ การใช้ท่อเล็กหลายๆ ท่อแทนการใช้ท่อใหญ่ท่อเดียว เช่น คูลเลอร์แบบสองหลอดที่ใช้ท่อขนาด 25 มิลลิเมตร 2 ท่อ จะยอมให้ของเหลวไหลผ่านด้วยความเร็วเท่ากับคูลเลอร์หนึ่งหลอดที่ใช้ท่อขนาด 50 มิลลิเมตร
โครงสร้างของท่อขนาดเล็กยังมีความแข็งแรงมากกว่าท่อขนาดใหญ่อีกด้วย อัตราส่วนความสูงต่อความกว้างของท่อยิ่งน้อยลงก็จะยิ่งทำให้มันแข็งแรงขึ้น ดังนั้น มันจึงทนต่อการ ‘พองตัว’ เวลาเจอกับแรงดันสูงๆ ได้ดีกว่า
ข้อเสียของการใช้ท่อเล็กหลายๆ ท่อก็คือ มันผลิตยากกว่ามากและทำให้แพงกว่าโดยปริยาย เพราะมันมีจุดเชื่อมต่อเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ซึ่งทำให้เสียเวลาในการผลิตและส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น มิหนำซ้ำคูลเลอร์แบบหลายหลอดยังมีน้ำหนักมากกว่าแบบหลอดเดียวอีกด้วย
คุณอาจคิดว่าคูลเลอร์ยิ่งมีหลายหลอดก็น่าจะยิ่งระบายความร้อนได้ดี ซึ่งก็จริงจนถึงจุดนึงที่แถวเริ่มมากเกินไปจนทำให้คูลเลอร์หนาเตอะ มันก็จะเริ่มส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพตามลำดับ
ตัวอย่างเช่น คูลเลอร์แบบ 4 หลอด ที่ใช้ท่อ 20 มิลลิเมตร จำนวน 4 ท่อ ย่อมระบายความร้อนได้ดีกว่าคูลเลอร์ที่ใช้ท่อขนาดเท่ากันแต่มีเพียง 3 หลอด อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างที่เกิดขึ้นนั้นเล็กน้อยกว่าที่คุณคิด และในบางกรณีผลเสียจากการเพิ่ม ‘แถวที่สี่’ เข้าไปก็หักล้างข้อดีที่เพิ่มขึ้นมาจนเกลี้ยง
แถวที่มีประสิทธิภาพสูงสุดก็คือแถวแรก ซึ่งเป็นส่วนแรกของคูลเลอร์ที่ปะทะกับอากาศเย็น ส่วนแถวที่สองและสามจะมีประสิทธิภาพลดหลั่นกันลงไปตามลำดับ ดังนั้นถ้ากลับไปที่ตัวอย่างเดิมของเรา การใส่แถวที่สี่เข้าไปจึงสามารถช่วยระบายความร้อนได้ดีขึ้นแค่นิดหน่อย แต่ความหนาที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ความเร็วอากาศที่ไหลผ่านคูลเลอร์ลดลง เพราะผ่านได้ไม่สะดวกเหมือนตอนยังเป็นสามแถว แบบนี้ก็อาจไม่คุ้มที่จะใส่แถวเพิ่มเข้าไปก็ได้
ท่อเชื่อมและท่อหล่อ
ท่อที่นำมาใช้ในคูลเลอร์มีอยู่ด้วยกันสองแบบคือ เชื่อมและหล่อ ท่อแบบเชื่อมจะมีราคาค่อนข้างถูกและผลิตง่ายกว่า เพราะพวกมันเป็นเพียงเหล็กแผ่นเรียบที่ถูกจับมาม้วนให้เป็นหลอดแล้วเชื่อมปิดปลาย โดยสามารถเลือกที่ใส่ไส้ในซึ่งเรียกว่า ‘Turbulators’ เข้าไปด้วยก็ได้ ท่อแบบนี้เป็นดีไซน์นิยมของอินเตอร์คูลเลอร์ ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการเพิ่มขนาดพื้นที่สัมผัสของอากาศซึ่งจำเป็นต่อการระบายความร้อน Turbulators จึงมีสองหน้าที่คือ เพิ่มพื้นที่สัมผัสและเพิ่มความแข็งแรงไม่ให้มันบวมเมื่อได้รับแรงดันสูงๆ
ส่วนท่อแบบหล่อจะแข็งแรงกว่ากันมาก แต่ก็แพงกว่ากันมากเช่นกัน กระบวนการผลิตทำโดยการอัดอลูมิเนียมด้วยความดันและอุณหภูมิที่สูงมากผ่านเครื่องจักรพิเศษ จนออกมาเป็นท่อไร้รอยต่อที่สามารถรับแรงดันได้สูงกว่าท่อแบบเชื่อม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อจำกัดด้านต้นทุนและความสามารถในการผลิตท่อหลากหลายขนาด ท่อแบบหล่อจึงถูกเก็บไว้ใช้เป็นกรณีพิเศษที่ต้องการความแข็งแรงและความทนทานเท่านั้น
ฟอยล์/ครีบ แผ่นฟอยล์หรือครีบคือส่วนนึงของคูลเลอร์ที่ยินยอมให้อากาศไหลผ่าน ความร้อนจากท่อจะถูกผ่องท้ายมายังครีบเหล่านี้ เมื่ออากาศที่เย็นกว่าไหลผ่านพวกมันไปอย่างรวดเร็ว มันก็จะพาความร้อนไปกับมันด้วย จากนั้นท่อจึงเริ่มเย็นลงเช่นเดียวกับของเหลวภายในตัวมัน ส่งผลให้อุณหภูมิลดลงในที่สุด
ระยะห่างของแผ่นฟอยล์จะเป็นตัวกำหนดความเร็วของอากาศที่ไหลผ่านตัวคูลเลอร์ ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพของคูลเลอร์อย่างแน่นอน ยิ่งฟอยล์เปิดกว้างขึ้นเท่าไหร่ มันก็ขัดขวางอากาศน้อยลงเท่านั้น แต่สิ่งที่ต้องแลกคือจำนวนครีบ (พื้นผิว) ที่ลดลงไปซึ่งส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการระบายความร้อน ในขณะที่ครีบแบบแนบชิดติดกันจะมีคุณสมบัติการระบายความร้อนที่ดีขึ้น แต่ก็ย่อมต้องแลกมากับแรงต้านอากาศที่เพิ่มขึ้นและความเร็วของอากาศไหลผ่านคูลเลอร์ที่น้อยลง และนั่นคือสาเหตุที่การใช้ฟอยล์จะต้องพิจารณาถึงลักษณะการใช้งานจริงกันอย่างละเอียดถี่ถ้วน
ปัญหาการระบายความร้อนของ BMW
ดีไซน์ วัสดุ และตำแหน่งติดตั้งระบบระบายความร้อนของ BMW ส่วนใหญ่มักจะค่อนข้างดีมากอยู่แล้ว แต่หลายๆ รุ่น (โดยเฉพาะ E36/E46) ก็มีชื่อเสียงในด้านความไม่ได้เรื่องของระบบระบายความร้อน แล้วมันจะเป็นไปได้ยังไง? ต้องบอกว่าหลายๆ กรณีก็ไม่ได้เป็นปัญหาที่ประสิทธิภาพของระบบ แต่เป็นเรื่องความทนทานซะมากกว่า อุปกรณ์ในระบบระบายความร้อนหลายชิ้น (เช่น E36/E46) จะมีชิ้นส่วนพลาสติกผสมอยู่ เพราะประหยัดต้นทุนและง่ายต่อการผลิต แต่พอเวลาผ่านไปพวกมันก็เริ่มกรอบแตกและทำให้ระบบเกิดรั่วขึ้นได้
เราทุกคนทราบกันอยู่แล้วว่าระบบระบายความร้อนทุกชนิดจะต้องซีลปิดสนิท ถ้าหากมีรอยรั่วตรงจุดใดก็ตามก็จะทำให้มันไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ ลองดูตัวอย่างจากระบบน้ำหล่อเย็นเครื่องยนต์ ถ้าระบบมีรอยรั่วก็จะทำให้น้ำยาหม้อน้ำค่อยๆ หายไปทีละเล็กน้อย เมื่อถึงจุดนึงที่ปริมาณน้ำในหม้อน้ำเหลือไม่พอจะดูดซับความร้อนที่เครื่องยนต์สร้างขึ้นได้แล้ว อุณหภูมิก็จะขยับขึ้นอย่างรวดเร็ว และก็มักจะขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมีอะไรสักอย่างพัง ซึ่งก็มักเป็นฝาสูบโก่งที่ค่าซ่อมแพงหูฉี่อีกด้วย!
เพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ระบบระบายความร้อนและอุปกรณ์ต่างๆ จึงจำเป็นต้องถูกดูแลให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์เสมอ เทอร์โมสตัท ฝาหม้อน้ำ ถังพักน้ำ น็อตไล่อากาศ หรือแม้กระทั่งตัวหม้อน้ำเองก็ควรจะต้องเปลี่ยนเมื่อถึงระยะ (ทุกๆ 75,000 ไมล์ หรือ 120,000 กิโลเมตร) เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะและควรจดเลขไมล์กับวันที่ไว้ด้วย เพราะอุปกรณ์พวกนี้ตรวจด้วยตาเปล่าไม่พอ ของบางชิ้นอาจจะยังดูใหม่เอี่ยมแต่กลับพังในวันรุ่งขึ้นก็มี โดยที่ไม่มีสัญญาณอะไรบอกก่อน
อย่างไรก็ตาม คุณสามารถอัพเกรดระบบให้มีประสิทธิภาพและความคงทนสูงขึ้นได้ การเปลี่ยนหม้อน้ำมาใช้แบบอลูมิเนียมก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะชุดอุปกรณ์มาตรฐานอาจจะเกิดรอยรั่วตรงจุดเชื่อมต่อระหว่างท่ออลูมิเนียมกับถังพักน้ำซึ่งเป็นพลาสติก เช่นเดียวกับเสื้อเทอร์โมสตัทเนื้ออัลลอยที่ไม่มีปัญหาเรื่องแตกร้าวแบบพลาสติก แต่บางทีชิ้นส่วนพวกนี้ก็ซีลมาไม่ดีจนเจ้าของบางคนถอดใจกลับไปหาพลาสติก OEM ใหม่ การเปลี่ยนท่อยางที่สามารถเปื่อยยุ่ยได้เป็นท่อซิลิโคนก็นับเป็นการลงทุนที่ดีอีกอย่างนึงเช่นกัน
สรุปสั้นๆ คืออย่าขี้เหนียวกับการบำรุงรักษาระบบระบายความร้อน BMW ของคุณ มิฉะนั้นมันจะกลับมาหลอนคุณได้…
สามารถติดตามตามข้อมูลได้ที่ @bmwcarthailand
FACEBOOK x INSTAGRAM x LINE@
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
www.bmwcarmag.com
http://bmwcarmag.com/category/Tech%20Focus