WISAMO นวัตกรรมระบบขับเคลื่อนด้วยใบเรือของมิชลิน

WISAMO_02

ข่าวรถวันนี้ : WISAMO นวัตกรรมระบบขับเคลื่อนด้วยใบเรือของมิชลิน ร่วมทำสัญญาทางธุรกิจครั้งแรกกับกองอำนวยการฝ่ายกิจการทางทะเล การประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งประเทศฝรั่งเศส

• ภายใต้สัญญาทางธุรกิจฉบับนี้ WISAMO…นวัตกรรมระบบขับเคลื่อนด้วยใบเรือซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ…จะได้รับการติดตั้งบนเรือตรวจการณ์ลำใหม่ของกองอำนวยการฝ่ายกิจการทางทะเล การประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งประเทศฝรั่งเศส (French Directorate General for Maritime Affairs, Fisheries, and Aquaculture: DGAMPA)
• การดำเนินงานตามสัญญาทางธุรกิจนี้เป็นการผนึกความร่วมมือ 3 ฝ่ายโดยพันธมิตรสัญชาติฝรั่งเศสทั้งหมด ได้แก่ โครงการ WISAMO, อู่ต่อเรือ Socarenam และ Mauric บริษัทด้านการออกแบบยานพาหนะทางน้ำ
• การทำสัญญาครั้งนี้ไม่เพียงเป็นก้าวสำคัญของโครงการ WISAMO แต่ยังสะท้อนถึงความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมของมิชลินได้อย่างดี

ล่าสุด WISAMO…โครงการนวัตกรรมระบบขับเคลื่อนด้วยใบเรือของมิชลินที่มุ่งลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งสินค้าทางทะเล…ได้เผยถึงการทำสัญญาทางธุรกิจครั้งแรกซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าครั้งสำคัญ โดยกองอำนวยการฝ่ายกิจการทางทะเล การประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งประเทศฝรั่งเศส (French Directorate General for Maritime Affairs, Fisheries, and Aquaculture: DGAMPA) ได้ให้ความไว้วางใจเลือกมิชลินและอู่ต่อเรือ Socarenam เป็นผู้ออกแบบและจัดสร้างเรือตรวจการณ์ไกลชายฝั่ง (Offshore Patrol Vessel) ที่ทันสมัยลำใหม่ พร้อมติดตั้งนวัตกรรมเทคโนโลยีขับเคลื่อนที่ผสานระบบพลังงานลมและระบบไฮบริดเข้าด้วยกัน

ความร่วมมือที่พันธมิตรทุกฝ่ายมีสัญชาติฝรั่งเศส

โครงการจัดสร้างเรือตรวจการณ์ลำใหม่แทน IRIS เรือตรวจการณ์ซึ่งออกแบบขึ้นเมื่อราว 40 ปีก่อน เกิดจากความร่วมมือของบริษัทสัญชาติฝรั่งเศส 3 ราย ได้แก่ Mauric บริษัทด้านการออกแบบยานพาหนะทางน้ำ (Naval Architecture) ซึ่งมีบทบาทในการออกแบบเรือตรวจการณ์, Socarenam บริษัทอู่ต่อเรือซึ่งรับผิดชอบงานสร้างเรือตรวจการณ์ และ มิชลิน ซึ่งมีหน้าที่ติดตั้งนวัตกรรมเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนด้วยลม WISAMO ให้กับเรือตรวจการณ์

นวัตกรรมใบเรือ WISAMO ซึ่งมีพื้นที่ 170 ตารางเมตร หรือ 1,829 ตารางฟุต จะให้พลังงานขับเคลื่อนด้วยลมเสริมการทำงานของระบบขับเคลื่อนแบบไฮบริดลูกผสมระหว่างเครื่องยนต์ดีเซลและมอเตอร์ไฟฟ้า โดยการออกแบบใบเรือและการยกระดับการทำงานของเรือให้มีประสิทธิภาพสูงสุดคาดว่าจะช่วยลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงลงได้ราว 15% คุณลักษณะเฉพาะตัวดังกล่าวตอบโจทย์ความคาดหวังของกองอำนวยการฝ่ายกิจการทางทะเล การประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งประเทศฝรั่งเศสที่มีต่อผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance) โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของเรือตรวจการณ์และไม่ทำให้เกิดข้อจำกัดในปฏิบัติการแทรกแซงของเรือตรวจการณ์

โครงการ WISAMO จะทำงานร่วมกับบริษัทออกแบบและบริษัทอู่ต่อเรือตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการออกแบบและพัฒนาซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปี 2568โดยมีกำหนดติดตั้งระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ บนเรือภายในต้นปี 2570 จนกระทั่งดำเนินการเสร็จสิ้นและทำการส่งมอบเรือตรวจการณ์ ทั้งนี้ ทีมงานของมิชลินจะเข้าร่วมการทดสอบเรือทางทะเลซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นได้ในช่วงปลายปี 2570 ด้วย

 

ก้าวสำคัญของแผนพัฒนาโครงการ WISAMO

ความเชื่อมั่นไว้วางใจที่สะท้อนผ่านการทำสัญญาติดตั้งนวัตกรรมระบบขับเคลื่อนด้วยใบเรือ WISAMO ให้กับเรือตรวจการณ์รุ่นใหม่ที่ทันสมัยครั้งนี้ถือเป็นการตอกย้ำศักยภาพของเทคโนโลยีที่นำมาใช้ ความสะดวกง่ายดายในการใช้งานและการออกแบบให้พับเก็บได้อย่างลงตัวทำให้นวัตกรรมนี้ได้รับการเปรียบเปรยว่าเป็น “มีดพับสวิส” (Swiss Army Knife) ของระบบขับเคลื่อนด้วยพลังลม

ในปีต่อ ๆ ไป โครงการ WISAMO ตั้งเป้าที่จะพัฒนาระบบขับเคลื่อนด้วยใบเรือให้มีความหลากหลายเพื่อสนับสนุนการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเรือทุกประเภท รวมถึงเรือขนาดใหญ่มาก เช่น เรือสำราญขนาดใหญ่ เรือโดยสาร และเรือบรรทุกสินค้า ที่มีขนาดตั้งแต่ 60 ฟุตถึง 60 เมตร

โม้ด ปอร์ติกลิอาติ (Maude Portigliatti) ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจโซลูชั่นด้านวัสดุประเภทโพลิเมอร์คอมโพสิต ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารกลุ่มมิชลิน กล่าวว่า “การติดตั้งระบบขับเคลื่อนด้วยใบเรือ WISAMO…ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมของมิชลินที่มุ่งลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคกิจการทางทะเล…เพื่อใช้งานในเรือลำแรกถือเป็นก้าวสำคัญ โดยการทำสัญญาทางธุรกิจครั้งนี้ไม่เพียงสะท้อนศักยภาพที่เหมาะสมของเทคโนโลยีที่นำมาใช้และประสิทธิภาพที่แข็งแกร่งของโซลูชั่นนี้ แต่ยังตอกย้ำให้เห็นถึงจิตวิญญาณความเป็นผู้บุกเบิกของมิชลินด้วย”

WISAMO: นวัตกรรมโซลูชั่นที่สามารถปรับใช้ได้กับเรือทุกประเภท

WISAMO นำเสนอนวัตกรรมโซลูชั่นที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในบริบทของการขนส่งทางทะเลซึ่งปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นวัตกรรมนี้ประกอบด้วยระบบขับเคลื่อนด้วยใบเรือที่พองลมและยืดหดได้ซึ่งใช้พลังงานลมที่ไม่มีต้นทุนและคาดการณ์ได้ในการขับเคลื่อนเรือ, ระบบควบคุมอัตโนมัติที่ใช้งานง่าย และอินเตอร์เฟซหรือการเชื่อมต่อที่เรียบง่ายซึ่งช่วยลดข้อบกพร่องจากการบูรณาการระบบเข้ากับเรือ ทั้งนี้ นวัตกรรมระบบขับเคลื่อนด้วยใบเรือ WISAMO ของมิชลินสามารถปรับใช้กับเรือที่มีขนาดความยาวมากกว่า 15 เมตรจนถึง 20 เมตรได้หลายประเภท โดยสามารถใช้เป็นระบบขับเคลื่อนหลักหรือเป็นส่วนหนึ่งของระบบขับเคลื่อนแบบไฮบริดเพื่อช่วยเสริมพลังให้กับเครื่องยนต์

WISAMO ช่วยลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงด้วยระบบขับเคลื่อนด้วยลมที่มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ

• เสากระโดงแบบยืดหดได้ที่สามารถตั้งอยู่โดยไม่ต้องมีอุปกรณ์ยึดโยง ทั้งยังพับเก็บได้ ช่วยให้ใช้งาน หรือจัดเก็บได้สะดวกตามต้องการ
• ผืนวัสดุพับทบที่ทนทานและมีน้ำหนักเบา ซึ่งสามารถเติมลมแรงดันต่ำเพื่อให้พองออกเป็นใบเรือรูปทรงสมมาตร
• ระบบควบคุมอัตโนมัติ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของใบเรือ ได้แก่ การยกใบเรือขึ้น (Hoisting), การลดใบเรือลง (Lowering), การปรับใบเรือ (Adjusting), การบังคับเพื่อหลบหลีก (Maneuvering), การลดขนาดใบเรือ (Reefing) และการเก็บใบเรือเพื่อป้องกันอันตรายจากสภาวะแวดล้อม (Protective Stowage) จึงไม่เพิ่มภาระงานให้ลูกเรือ

 

ข้อมูลสังเขปเกี่ยวกับเรือตรวจการณ์

เรือตรวจการณ์ลำใหม่มีหน้าที่ตรวจการณ์และลาดตระเวนทางทะเลภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone: EEZ) ของประเทศฝรั่งเศส โดยเฝ้าติดตามเรือทุกขนาดและสนับสนุนปฏิบัติการทางทะเลของรัฐบาลฝรั่งเศส

นอกจากตรวจการณ์และบังคับใช้กฎระเบียบด้านการประมงแล้ว เรือตรวจการณ์ลำนี้ยังจะมีบทบาทในการเฝ้าติดตามการเดินเรือ, ควบคุมมลพิษทางทะเล, บังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยด้วย

เมื่อแล้วเสร็จ เรือตรวจการณ์ลำนี้จะประจำการอยู่ที่เมืองลาโรเชลล์ (La Rochelle) และปฏิบัติการตามแถบชายฝั่งแอตแลนติก โดยเฉพาะบริเวณอ่าวบิสเคย์ (Bay of Biscay) ซึ่งเป็นบริเวณที่ประสบผลสำเร็จในการทดสอบ WISAMO กับเรือ MN Pelican เมื่อปี 2566 โดยผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่าระบบมีความทนทานนานหลายเดือน

มิชลินครองตำแหน่งผู้นำด้านนวัตกรรมมานานกว่า 130 ปี
นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งธุรกิจ กลุ่มมิชลินได้ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเป็นลำดับแรกเสมอมา ดังจะเห็นได้จากการพัฒนาโพลิเมอร์, วิศวกรรมกระบวนการ, ความเชี่ยวชาญด้านวัสดุไฮเทค ไปจนถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูล โดยมีจุดแข็งสำคัญอยู่ที่การวิจัยและพัฒนา ด้วยทีมนักวิจัยกว่า 6,000 คนทั่วโลก, งบประมาณด้านนวัตกรรม 1.2 พันล้านยูโร (ประมาณ 42,155 ล้านบาท) ต่อปี และจำนวนสิทธิบัตรที่มีผลบังคับใช้ 11,000 รายการ กลุ่มมิชลินยังคงมุ่งมั่นคิดค้นโซลูชั่นใหม่ ๆ เพื่อยกระดับการสัญจรและขับเคลื่อนชีวิตที่ไม่หยุดนิ่งให้ดียิ่งกว่า