โตโยต้า หนุนเยาวชน-ชุมชน สร้างนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม
ข่าวรถวันนี้ : โตโยต้า-อว. โดย สวทช. – สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หนุนเยาวชน-ชุมชน สร้างนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม
“โครงการลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า” โดยบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ประกาศผลและมอบรางวัลให้กับผู้ชนะจาก 2 โครงการประกวด ได้แก่ “ชุมชนลดเปลี่ยนโลก” และ “นวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก โดยมี นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. และ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมงาน
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้ดำเนินกิจกรรม “โตโยต้า ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา” หนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการโตโยต้าเมืองสีเขียว มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ด้วยความมุ่งหวังในการสร้างจิตสำนึกให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงปัญหาด้านภาวะโลกร้อน พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไข เปิดโอกาสให้โรงเรียน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากทั่วประเทศ จัดทำแผนงานส่งเข้าประกวดเพื่อรณรงค์การลดภาวะโลกร้อนภายในชุมชนของตน โดยตลอดระยะเวลา 14 ปี ได้สนับสนุนงบประมาณให้แก่โรงเรียน 299 แห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 238 แห่ง และ ชุมชน 162 แห่ง ทั่วประเทศ เกิดเป็นโครงการที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 23,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ปีนี้ เพื่อขยายผลและต่อยอดความสำเร็จของโครงการให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่าง โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ภายใต้ชื่อ “โครงการลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า” มาพร้อมกับแนวคิดใหม่ ที่เกิดจากการตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์มลภาวะในปัจจุบัน จึงมุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อลดมลพิษ ลดภาวะโลกร้อนในชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการให้ความสำคัญกับสถานศึกษาในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาพัฒนาเพื่อปรับใช้ในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 -2564)
นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ในปีนี้ โตโยต้า และมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้ร่วมมือกับอีกหนึ่งพันมิตรที่แข็งแกร่งอย่าง สวทช. ในการพัฒนาโครงการ โตโยต้า ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา มาเป็น ‘ลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า’ ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของกิจกรรม เพื่อดึงเอาศักยภาพของชุมชน และเยาวชน ให้สามารถแก้ไขปัญหามลภาวะได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ดังที่เห็นได้จากผลงานของเยาวชน และชุมชนในวันนี้ ว่าพวกเขามีความพร้อมที่จะเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศต่อไป
ทั้งนี้ โครงการลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า ประกอบด้วย โครงการย่อย 2 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก และ 2) โครงการชุมชนลดเปลี่ยนโลก
โครงการนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า จากกว่า 200 โครงการจากเยาวชนทั่วประเทศ มี 30 โครงการจาก 22 โรงเรียน ที่ผ่านการคัดเลือกในระดับภูมิภาคสู่ค่ายอบรมนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก สู่ 10 โครงการ (สายสามัญ 5 ทีม สายอาชีพ 5 ทีม) ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย และจับมือนักวิจัยพี่เลี้ยงจาก สวทช. ต่อยอดและพัฒนานวัตกรรมร่วมกันนำเสนอผลงานในรอบชิงชนะเลิศครั้งนี้
โดยรางวัลชนะเลิศในโครงการนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก สายสามัญ ได้แก่ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช จากโครงการถุงนาโนคอมโพสิตจากยางพาราเสริมแรงด้วยนาโนเซลลูโลสจากเปลือกส้มโอ ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย จังหวัดนครพนม จากโครงการข้าวตอกที่เพิ่มและขยายรูพรุนด้วยการลดความดันอากาศภายในภาชนะอบเพื่อดูดซับสารสกัดจากใบกะเพราและใบยาสูบในการล่อและกำจัดแมลงวันทองในสวนผลไม้แทนการใช้ยาฆ่าแมลง และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนแสงทองวิทยา จังหวัดสงขลานครินทร์ จากโครงการระบบแผ่นกรองฝุ่น PM2.5 และ แบคทีเรียจากเส้นใยข้าวโพดเคลือบด้วยอนุภาคเงินนาโน
และรางวัลชนะเลิศในสายอาชีพ ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากโครงการเครื่องเก็บขยะในทะเลโดยใช้เทคโนโลยีนาโน ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากโครงการเครื่องกำจัดขยะเศษอาหารเป็นปุ๋ยอัตโนมัติ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย จังหวัดหนองคาย จากโครงการเครื่องปั่นไฟชีวมวล
ซึ่ง 2 ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จะได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เงินรางวัล ๆ ละ 30,000 บาท และ เงินทุนพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมสู่ชุมชน 300,000 บาท พร้อมโอกาสศึกษาดูงานด้านสิ่งแวดล้อมประเทศญี่ปุ่น
นอกจากนี้ จากการที่โตโยต้าได้เชิญชวนสาธารณชน มาร่วมลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผ่านเว็บไซต์ www.ลดเปลี่ยนโลก.com เมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา โตโยต้าได้สนับสนุนเงิน 1 บาท ต่อทุกการลดขยะพลาสติก (มีกิจกรรมลดขยะทั้งสิ้นกว่า 550,000 ครั้ง) เพื่อสนับสนุนการวิจัยต่อยอดผลงานนวัตกรรม (ด้านสิ่งแวดล้อม) จากโครงการนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า
ในงานนี้ โตโยต้าจึงได้สมทบทุนเพิ่มเติม รวมเป็นเงินมูลค่าทั้งสิ้น 1 ล้านบาท แก่สวทช. ในการนำไปพัฒนาและขยายผลนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับเยาวชนจากโครงการลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า เพื่อต่อยอดสู่การแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศและน้ำ ในชุมชนทั่วประเทศไทยต่อไป
โครงการชุมชนลดเปลี่ยนโลก
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า จากชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ มีเพียง 12 แห่ง ที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการชุมชนลดเปลี่ยนโลก โดยแต่ละแห่งได้วิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในพื้นที่และดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหา ลดการปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ซึ่งได้มานำเสนอผลงานในรอบชิงชนะเลิศครั้งนี้ โดยผู้ชนะเลิศในโครงการชุมชนลดเปลี่ยนโลก ได้แก่ ชุมชนบ้านแม่ป๋าม เทศบาลตำบลปิงโค้ง จังหวัดเชียงใหม่ จะได้รับถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท และโอกาสไปศึกษาดูงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศญี่ปุ่น ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ชุมชนบ้านดอนยาวน้อย เทศบาลตำบลวังหิน จังหวัดนครราชสีมา และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ชุมชนบ้านวังโป่ง เทศบาลตำบลร้องกวาง จังหวัดแพร่
ผู้ชนะเลิศทั้ง 2 โครงการ จะได้ไปนำเสนอผลงานแก่ผู้บริหาร จากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงศึกษาดูงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมถึงนวัตกรรมต่าง ๆ จากญี่ปุ่น จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดผลงานของตน โดยชุมชนที่ชนะเลิศจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการพัฒนาชุมชนของตนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ “ชุมชนลดเปลี่ยนโลก” ในระดับจังหวัด ในขณะที่โรงเรียนที่ชนะเลิศจะได้รับการสนับสนุนเงินทุนสร้าง “นวัตกรรมต้นแบบ” ขนาดใช้ได้จริงเพื่อนำไปสู่ชุมชนต่อไป.